A PART OF MY LIFE

A PART OF MY LIFE
เป็นเวปในฝัน ที่ทำเพื่อ "บูชาครูการละคร" ทั้งหลายที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาศิลปการละครให้แก่ข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าได้นำความรู้เหล่านั้นมาหากินเลี้ยงชีพมาตราบจนทุกวันนี้ เช่น ครูใหญ่ อ.สดใส พันธุมโกมล,ครูช่าง อ.ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง,ครูแอ๋ว อ.อรชุมา ยุทธวงศ์,ครูอุ๋ย อ.พรรัตน์ ดำรุง,พี่อี๊ด สุประวัติ ปัทมสูต,อารอง เค้ามูลคดี,อาโต รัชฟิล์ม และอีกหลายๆท่าน โดยนำคำสอนของบรรดาครูทั้งหลาย และเหล่าพี่น้องภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่รัก "ละครเวที" ครับ

วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

รู้ เห็น ไม่ใช่เป็น

เสน่ห์ของนักแสดง




CHARM หรือ เสน่ห์ สิ่งที่นักแสดงส่วนใหญ่มองข้าม เพราะมัวแต่ไปพะวงถึงบทบาท หรือความสวยความงามของตนจนลืมเสน่ห์ที่นักแสดงทุกคนมี ไม่ว่าจะสูง ต่ำ ดำ ขาว หน้าตาอย่างไรก็ตาม ทุกคนล้วนมีจุดที่สามารถนำไปบริหารเป็น "เสน่ห์" ให้คนดูลืมความบกพร่องของนักแสดงนั้นได้ ขอยกตัวอย่างครูของผมคนหนึ่ง คือ สอาด เปี่ยมพงษ์ศานต์ ผมเคยถามท่านว่า ทำไมตอนที่ท่านเล่น เราดูแล้วเชื่อ ดูแล้วคล้อยตาม แล้วต้องมองท่านตลอด ท่านตอบว่า "แก้ว ข้ารู้ว่าข้าเป็นคนหน้าตาไม่หล่อ สู้พระเอกไม่ได้ ทำยังไงข้าถึงจะเล่นละครแล้วคนดู ดู ข้า ข้ามาคิดว่า ในเมื่อเราไม่หล่อ เราก็หันมาเล่นทางสายตา ข้าใช้ "ตา" สื่ออารมณ์ ใช้ตาเล่นเป็นตัวละครนั้นไง"

วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2551

พี่โหน่ง วสันต์ อุตตมะโยธิน



พี่โหน่งเวียนว่ายวนเวียน อยู่ในวงการแสดงมานานมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก ทั้งทางโทรทัศน์ และละครเวที สัญญลักษณ์ของพี่โหน่งคือ "ปาก"

วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ใช้ทฤษฎีให้เป็น "พาหะ" มิใช่ "ภาระ"

มีน้องๆหลายคนบ่นว่า เมื่อก่อนก็เล่นละครได้ กล้าเล่น กล้าแสดง พอตอนหลังได้มาเรียนทฤษฎีการแสดงกับครูหรือเรียนที่คณะแล้ว กลับไม่กล้าแสดง เพราะกลัวผิด กลัวไม่ใช่ กลัวครูว่า กลัวไปหมด คิดมาก ทำให้การแสดงออกมาแล้วเกร็ง แสดงไม่เต็มที่ รู้สึกต้อง force ตัวเองทุกครั้งที่ขึ้นเวที ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะ "สมาธิผิดที่" ดังที่กล่าวมาแล้ว
อีกประการหนึ่ง สิ่งที่นักแสดงมองข้ามไปคือ TRUTH เข้าใจว่าความจริงนั้นคือความจริงที่เกิดขึ้น หรือรู้สึกจริงๆ เช่นในบทต้องถูกน้ำร้อนลวก เลยลองเอาน้ำร้อนมาลวกมือเพื่อให้เข้าใจถึงความเจ็บปวด แต่ในด้านการละคร ความจริงที่ว่า หมยถึง "ความจริงทางศิลปะ" หมายถึง ความจริงที่เกิดขึ้นจากการแสดงที่ฝึกฝนหลักปฏิบัติ ฝึกจนหลักปฎิบัตินั้นได้ถูกกลืนจนกลายเป็น "ความจริงทางศิลปะ" นั่นเอง
การเรียนศิลปะการละครนั้น ครูบอกว่า เรียนเพื่อฝึกฝนตัวเองให้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งสำคัญคือ การฝึกฝน ไม่มีใครไปเรียนการแสดง แล้วครูที่สอนเสกเป่ากบาลเพี้ยง แล้วบอกว่า "เอาล่ะ ไอ้แก้ว นับแต่นี้ต่อไป มึงเล่นละครเป็นแล้ว"
เราจะแสดงละครได้ดีหรือไม่นั้น เราต้องหมั่นฝึกฝน หมั่นทำexerciseของการแสดง
ในทางทฤษฎี ก่อนที่เราจะทำการการแสดงในบทบาทต่างๆ และการที่เราจะสวมบทบาทเป็นใครนั้น ไม่ใช่เราอ่านบทแล้วแสดงได้เลย เราต้องศึกษาธรรมชาติของตัวละครนั้นๆก่อน ถึงจะเข้าใจอุปนิสัย และความต้องการของตัวละคร เช่น
ศึกษาสถานะภาพทางร่างกาย เช่น ตัวละครนั้นสูงหรือเตี้ย ขาวหรือดำ หน้าตาดีหรือขี้เหร่ มีความพิการของร่างกายหรือไม่
ศึกษาสถานะภาพทางจิตใจ เช่น ขี้ใจน้อย ใจกว้างหรือไม่ มองโลกในแง่ไหน กลัวอะไรบ้าง
ศึกษาสถานะภาพทางสังคม เป็นผู้นำ หรือผู้ตาม เป็นลูกคนโต คนกลาง คนสุดท้อง ลูกคนเดียว เป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง เป็นโสดหรือไม่ ตำแหน่งหน้าที่การงานอะไร การศึกษาจบด้านไหน จบที่ไหนมา
ศึกษาสถานะภาพทางฐานะ รวย จน ปานกลาง
ศึกษาสถานะภาพทางภูมิศาสตร์ เช่นเป็นคนภาคไหน พูดชัดหรือไม่
นักแสดงยังต้องศึกษาสถานะภาพในด้านอื่นๆของตัวละครอีกมากมายเพื่อทำให้นักแสดงนั้นเข้าใกล้ถึงความเป็นตัวละครตัวนั้นมากขึ้น เพราะถ้าศึกษาถึงรายละเอียดต่างๆเหล่านั้น จะทำให้นักแสดงเข้าใจถึงเหตุผลของการกระทำของตัวละครที่มีผลต่อบุคลิก อุปนิสัยใจคอ ความต้องการของตัวละครนั้นๆ
นักแสดงปัจจุบันคงคิดว่าจะบ้าตายถ้าต้องทำอย่างนั้น โดยลืมนึกถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษาตัวละครนั้นๆ เพื่อให้นักแสดงเข้าใจในสิ่งที่ตัวละครนั้นคิด และทำทุกอย่างบนเวที ตามความต้องการตัวละครตัวนั้น มิใช่ตัวละครทำตามที่นักแสดงต้องการ
คราวนี้ในทางปฏิบัติ เราจะมานั่งนึกถึงรายละเอียดทุกอย่างของตัวละครที่เราจะต้องสวมบทบาทคงไม้ได้ แต่ถ้าเรามีการเตรียมตัวฝึกฝนมาก่อน เราแทบไม่ต้องนึกถึงรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านั้นเลย เฉกเช่นการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ทุกวันนี้คงไม่มีใครมานั่งนึกว่าเวลาทานข้าว เราต้องจับช้อนอย่างไร จะตักข้าวท่าไหน เอาข้าวเข้าปากอย่างไรไม่ให้ข้าวหก จังหวะไหนต้องหุบปาก ต้องเม้มปากเพื่อไม่ให้ข้าวร่วง เพราะสิ่งเหล่านั้นได้ผ่านการฝึกฝนมาจนกลายเป็นนิสัยแล้ว
เช่นเดียวกันกับการแสดง ถ้าเราหมั่นฝึกฝนการแสดงของตัวละครนั้นๆ การแสดงของเราแทบจะเป็นธรรมชาติของตัวละครนั้นเลยทีเดียว และเราจะมีสมาธิอยู่กับ ความต้องการของตัวละคร มากกว่าคิดว่า ตัวเราควรจะทำอะไรท่าไหนดี จนกลายเป็น การเสแสร้งแกล้งทำและการเสกสรรปั้นแต่งท่าทางขึ้นมา

วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2551

วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2551

อารอง

นายอำนาจ (รอง) เค้ามูลคดี

อารอง หรือพ่อรอง เป็นคนที่มี “วินัย” ในการทำงานสูงมาก เหมือนนักแสดงรุ่นเก่าๆที่ข้าพเจ้าได้พบมาคือ รักษาเวลา อารองและนักแสดงรุ่นเก่าจะมาก่อนเวลานัดเสมอ จะถ่ายหรือไม่ถ่ายก็ไม่บ่น มาถึงก็ทานข้าว แล้วก็หามุมสงบท่องบท (ซึ่งได้ท่องมาตั้งแต่ได้รับบทแล้ว) ไม่เร่ง ไม่หงุดหงิด เป็นกันเอง จะรอนานเท่าไหร่ก็ไม่ว่า เพราะเรารับงานมาแล้ว ต้องทำให้ดีที่สุด ข้าพเจ้าคิดว่า วินัยในการแสดงแบบนี้ หายากยิ่งในนักแสดงปัจจุบัน

อารองมักพร่ำสอนข้าพเจ้าเสมอๆว่า “ไอ้แก้ว ไม่ว่าเอ็งจะทำอะไรก็ตาม อารองขอให้แก้วมี <สติ> เสมอ เพราะถ้าเรามีสติ ก็จะรู้ตัว และทำงานได้สำเร็จลุล่วง นักแสดงบางคนไม่มีสติในการแสดง แต่จะไปเอาสตางค์เค้า ใครเค้าจะให้เอ็งวะ นอกจากสติก็ต้องมีวินัย.......”

ข้าพเจ้าไปค้นหาความหมายของคำว่า “สติ” มาจากเวป www.dhammaforlives.com ได้ดังนี้
สติ หมายถึง ความระลึกได้, นึกได้, ความไม่เผลอ, การคุมใจไว้กับกิจหรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง,จำการที่ทำและคำที่พูดแล้วแม้นานได้ (พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์)

สติ แปลว่าความระลึกได้ความนึกขึ้นได้หมายถึงอาการที่จิตนึกถึงสิ่งที่จะทำจะพูดได้นึกถึงสิ่งที่ทำคำที่พูดไว้แล้วได้เป็นอาการที่จิตไม่หลงลืมไม่เผลอไผลฉุกคิดขึ้นได้ระงับยับยั้งใจได้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าความไม่ประมาท

สติเป็นธรรมมีอุปการะมากคือทำให้ตื่นตัวอยู่เสมอไม่ให้เลินเล่อพลั้งเผลอป้องกันความเสียหายเบื้องต้นเป็นเหตุให้ฉุกคิดยับยั้งชั่งใจไม่บุ่มบ่ามและกระตุ้นให้นึกถึงชีวิตจนทำให้เสียสละทำความดีงามต่างๆได้แต่หากขาดสติแล้วจะเป็นเหตุให้ทำอะไรผิดพลาดพลั้งเผลอและเสียหายร่ำไป
(พระธรรมกิตติวงศ์ พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ชุดคำวัด, วัดราชโอรสรามกรุงเทพฯ พ.ศ. 2548)

วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551

คนดูละคร สำคัญอย่างไร





ครูช่างเล่าให้ฟังว่า หัวใจของละคร ที่สำคัญที่สุดคือคนดู วันนี้ วินาทีนี้ ต้องใช้คำว่า คนดูสำคัญที่สุด เพราะเดี๋ยวนี้ เราไม่ดูละคร(เวที)กัน อาจเป็นเพราะว่า บรรยากาศมันไม่เอื้อ นึกย้อนกลับไปเมื่อ 30-40ปีเนี่ยะ พอลิเกมาเล่นที่หมู่บ้าน รีบฝัดข้าว รีบทำงาน รีบเอาลูกอาบน้ำอาบท่า ช้าไม่ได้ รีบวิ่งข้ามคันนาไปเพื่อไปดูลิเก บรรยากาศ(สมัยนั้น)มันเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่สมัยก่อน คนดูละคร แต่สมัยนี้ คนไม่ดูละคร ทั้งๆที่ ชาติทั้งชาติ ตลกมากนะที่คนไทยทุกคนรู้จักรามเกียรติ์กันทั้งชาติ ก็แสดงว่า คนไทยเป็นนักดูที่ดี แล้วพอมีปัญหาที่ว่า คนไทยไม่ดูละครกัน นี่คือสาเหตุที่ครูมาทำคณะละครมรดกใหม่ เพราะคิดว่าคนจะชอบดูละคร หลังจากทำไปสักพัก คิดว่าคนอยากดูละคร แต่พอเอาเข้าจริงๆแล้ว เอาแบบชีวิตรูปแบบปัจจุบันนี้ คนไม่ชอบดูละคร เอาคนฝีมือดีๆมา แต่คนก็ไม่ดูละคร สรุปแล้วสิ่งที่เราจะสร้างไม่ใช่สร้างละคร แต่สร้างคนดูละคร เพราครูเชื่อว่า "คนดูคือนักแสดงละครที่ดีที่สุด" นี่คือหัวใจของที่นี่เลย คือการทำให้คนดูนั้นดูละครให้ได้ จู่ๆจะเดินไปบอกให้คนนั้นคนนี้มาดูละคร มันเป็นไปได้ยาก เพราะเดี๋ยวนี้โรงเรียนต่างๆ การดูละครเป็นแค่กิจกรรมให้เด็กแค่นั้น ไม่ได้ดูเพราะอยากดูจริงๆ เพราะไม่รู้ ขี้เกียจสอนเด็กก็ให้เด็กมาดูละครเป็นแค่กิจกรรมเฉยๆ แต่ไม่ได้ดูเหมือนที่ไปดูลิเกอะไรต่างๆ นานา ไปดูแล้วเพื่อเอาความรู้มา พอไปดูลิเกที่วัดใหญ่มาแล้วมาสอนลูกสอนหลานอีก คติต่างๆ เดินกลับบ้านก็ยังคุยกัน แล้วนึกถึงตอนนั้นสิ ประเทศเรามีความสุขแค่ไหนเมื่อชาติบ้านเมืองเต็มไปด้วยคนดูละคร

ละครคืออะไร


ปรัชญามรดกใหม่



ครูช่างบอกว่า มรดกใหม่มีปรัชญาในการดำรงชีวิตในการละคร หรือชีวิตทั่วๆไป 6 ข้อดังนี้

1. พร้อมใจกันทำ พร้อมใจกันเลิก
2. ทำแล้วทำเล่า จนทำได้
3. อยู่อย่างต่ำ ทำอย่างสูง
4. แผ่วที่ผล ทำที่เหตุ
5. ไม่มีเรื่องเล่าที่เล่าไม่ได้ มีแต่นักแสดงที่เล่าไม่เป็น
6. เป็นอย่างที่กิน เป็นอย่างที่อ่าน เป็นอย่างที่สอน
ส่วนความหมายลึกๆของแต่ละข้อ ข้าพเจ้าจะนำมาลงทีหลัง ตีความเองกลัวผิดครับ

วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2551

ครูช่างกับการแสดง


ครูช่างมักเน้นเสมอ ถึง "ความรู้สึกครั้งแรกในการแสดง" หรือครูเรียกว่า "พรหมจรรย์" ครูบอกว่า ทุกครั้งที่เราแสดง ให้ระลึกอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนเวทีนั้น เป็น "ครั้งแรก" ของเราเสมอ ไม่ว่าเราจะแสดงกี่ร้อยรอบ กี่ร้อยครั้งก็ตาม ครูบอกว่า นักแสดงส่วบใหญ่จะ "ลืม" ความรู้สึกนี้ ลืมแม้กระทั่งความรู้สึกตื่นเต้นในการแสดง "ครั้งแรก" ของเรา ทำให้นักแสดงเหล่านั้น "ประมาท" ในการแสดง บางตนนึกว่าตัวเองเก่งแล้ว ไม่ต้องซ้อม ไม่ต้องblocking ไม่ท่องบท ทำให้บางครั้งความรู้สึกที่แสดงออก จะไม่สมจริง เช่น ในชีวิตจริง การได้จับมือคนรักครั้งแรก กับการจับมือในครั้งต่อๆไป ความตื่นเต้น ความดีใจ ความปลาบปลื้ม ความรู้สึกอื่นๆจะลดลง หรือกลืนหายไป ในการแสดง การจับมือคนรัก ต้องรู้สึกเหมือน "ครั้งแรก" ทุกครั้งเสมอ

วันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2551

ครู พี่ เพื่อน

สุขสันต์วันสงกรานต์ครับ
นังปุ๊ย พี่ตุ๊ก พี่แด ครูใหญ่ น้องอ้น น้องเล็ก น้องลิตา พี่แอ๊นท์ ครูแอ๋ว น้อง.... และยุ่น
ถ่ายกับครูใหญ่ครับ ยังสวยเหมือนเดิม
พี่สาวผู้น่ารัก
น้องอ้น ฐานวดี สถิตย์ยุทธการ นักเขียนบทมือหนึ่ง
ครูแอ๋ว อรชุมา ยุทธวงศ์
ครูนิต คณิต คุณาวุฒิ ออกแบบฉากได้สวยมาก
ครูนพ นพมาศ แววหงส์
ลลิตา ฉันทศาสตร์โกศล นักเขียนบทละครตัวยง
ปุ๊ย ผอูน กับพี่ตุ๊ก กำลังคร่ำเคร่งกับการกิน
รูปนี้ไม่มี MOSAIC นะพี่ตุ๊ก ดูได้ทุกเพศทุกวัย

ครูแอ๋วกำลังจะออกหนังสือเกี่ยวกับงานของท่านเร็วๆนี้ ติดตามข่าวกันนะครับ
ยิ่งยศ ปัญญา ผู้กำกับ และนักเขียนบทคนเก่ง เพื่อนร่วมชั้นเรียน
ปุ๊ย ผอูน จันทรศิริ ผู้กำกับ นักแสดง นักเขียนบท


เพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 ข้าพเจ้าได้ไปรดน้ำอวยพรครูใหญ่ (อ.จ.สดใส) ครูแอ๋ว(อ.จ.อรชุมา) ครูนิต (อ.จ.คณิต) และครูนพ (อ.จ.นพมาศ) ที่บ้านครูแอ๋ว แถวสุทธิสาร ข้าพเจ้าได้เจอครู เจอพี่ เจอเพื่อน เจอน้องหลายคน สนุกมากครับ

วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551

สุรทิน โอฬาวนิช

สุรทิน โอฬาวนิช

"อาโต" เป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังจริงๆ อาโตเป็นผู้กำกับการแสดง เป็นผู้กำกับรายการ เป็นนักแสดง (เช่นเจ้าต๋องจอมยุ่ง,หุ่นไล่กา ท่านเล่นเป็นแม่มด) อาโตทำงานอยู่ที่รัชฟิลม์สตูดิโอ ลาดพร้าว 64 มานานมาก อยู่มาตั้งแต่ปี 2520 สิริรวม 41ปีแล้ว เรื่มกำกับครั้งแรกปี 2522 เรื่องชุมทางชีวิต ซึ่งได้รางวัลเมขลาในปีต่อมา เล่นเป็นตัวร้ายในเรื่อง "ลุกกรอก" เด็กๆสมัยน้นจะกลัวอาโตมาก เพราะกลัวถูกจับฉีดยาดองเป็นลูกกรอก อาโตโฆษณาข้าวเกรียบหลอด SB ที่มีประโยคติดปากว่า "ของแท้ พิมพ์นิยม" อาโตอยู่ในวงการมานานมาก มีความรู้มากมาย ใจดี และที่สำคัญ ไม่หวงวิชาความรู้ ข้าพเจ้าอยากรู้อะไรในด้านภาพ (ข้าพเจ้าทำงานด้านกำกับภาพด้วย) ด้านการจัดแสง หรือด้านใดๆก็ตาม อาโตจะอธิบายให้ฟังอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เรื่องดีๆยังมีอีกมากครับ สังเกตุให้ดี รูป "ครู" ทั้งสองท่านของข้าพเจ้า ทั้งคู่มีความ "ขี้เล่น" แฝงอยู่ รูปนี้ข้าพเจ้าชอบมากครับ

สุประวัติ ปัทมสูต

สุประวัติ ปัทมสูต

"พี่อี๊ด" สุประวัติ ปัทมสูต หนึ่งในผู้กำกับละครชั้นนำของวงการละครไทย พี่อี๊ดเป็นรุ่นพี่ที่สวนกุหลาบ ข้าพเจ้าได้สัมผัสความเป็น "สุประวัติ" มาเกือบ20ปี สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้ายอมรับคือ พี่อี๊ด "เก่ง" พี่อี๊ดมีอะไรหลายๆอย่าให้ข้าพเจ้าได้ศึกษา และที่สำคัญ พี่อี๊ดไม่เคยหวงวิชา พี่อี๊ดมีมุมมองของ "ละครสมัยใหม่" และ "ละครสมัยเก่า" และสามารถนำแนวละครทั้งสองอย่างมาผสมผสานกันได้อย่างมีรสชาด พี่อี๊ดเก่งเรื่องไทยๆ เรื่องลิเก ละครร้อง โขน ละครย้อนยุค และทีถนัดคือ ละครตลก พี่อี๊ดสามารถร้องลิเกกลอนสดได้ ข้าพเจ้าเห็นพี่อี๊ดมีความสุขกับการทำละคร พี่อี๊ดเป็นผู้กำกับที่สร้างบรรยากาศความสนุกสนานในการทำงาน น้อยครั้งที่ข้าพเจ้าเห็นพี่อี๊ดโกรธเวลากำกับ พี่อี๊ดเป็นนักแสดงที่แสดงได้หลายบทบาท เป็นผู้กำกับที่ทำงาน "ละคร" เพื่อให้เป็น "ละคร" อย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (การทำทำละครแต่ละเรื่อง จะมีปัจจัยหลายๆอย่างมา "บีบบังคับ" ให้การทำงานไม่เป็นไปดังฝัน เช่น พระเอกใบสั่ง นางเอกใบซื้อ เล่นละครได้อย่างกับท่อนไม้ก็มี พูดภาไทยไม่ชัดแต่ต้องเล่นเป็นคนไทยโบราณก็มี) คำสอนและเรื่องราวสนุกสนานของท่าน ข้าพเจ้าจะทยอยนำมาลงให้ได้ศึกษาครับ

ครูช่าง

ครูช่าง อ.จ.ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง

หนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการละครของข้าพเจ้า และศิษย์อีกหลายๆคน ครูช่างกลับมาสอนที่เมืองไทยครั้งแรกในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตอนที่ข้าพเจ้าเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1(พ.ศ.2523) และครูช่าง ยังเป็นพี่ชายของเพื่อนข้าพเจ้าสมัยเรียนที่ สาธิต สวนสุนันทาอีกด้วย ครูช่างเคยเล่า(ด้วยความภาคภูมิใจ) ว่าครูไปเรียน DRAMA ที่UNIVERSITY OF MONTANA ครูเรียนฟรี ทุกคนก็จะงงว่า เรียนฟรีได้ไง ครูบอกว่า ครูไปหลอก DEAN ที่นั่นว่า ครูเป็นอินเดียนแดง สมัยนั้นใครเป็นอินเดียนแดงเค้าให้เรียนฟรื เรื่องราวของ "ครูช่าง" กับข้าพเจ้าเป็นเรื่องราวที่สนุกสนาน มุมมองการละครของครู จะว่าแปลกก็แปลก จะว่าไม่แปลก ก็ไม่แปลก จะว่าขวางโลก ก็ไม่เชิง จะว่าไม่น่าเอามาใช้ ก็ต้องหยิบมาใช้ เอาไว้ข้าพเจ้าจะค่อยๆนำเสนอเรื่องราวของท่านในภายหลังครับ รูปนี้ถ่ายไว้นานมาก สมัยที่ข้าพเจ้าเล่นละครทีวีที่ช่อง 7 เรื่อง "ดักแด้กับมะเดื่อ" ที่ครูแอ๋ว ครูอุ๋ย และครูช่างร่วมกันผลิต ข้าพเจ้าเล่นเป็น "หนอนแก้ว" เทวดาที่ลงมายังโลกมนุษย์เพื่อมาหาความดี เล่นกับพี่โย ญาณี ตราโมท,พี่ตุ๊ก ญานี จงวิสุทธิ์,ครูช่าง,น้องดาว (น้องครูช่าง น่ารักมาก อิอิ)และอีกหลายๆคนครับ เป็นละครที่สร้างชื่อให้กับข้าพเจ้าเป็นเรื่องแรก จนทุกวันนี้ยังมีคนเรียกข้าพเจ้าว่า "หนอนแก้ว" อยู่เลย

Romantic Comedy





Comedy ประเภทต่าง ๆ


Comedy แยกออกเป็นหลายแบบหลายระดับ ในระดับที่สูงสุด Comedy จะมีลักษณะเป็นวรรณกรรมชั้นสูง แต่ในระดับที่ต่ำสุดก็จะมีความใกล้เคียงกับ Farce จนบางครั้งแยกกันไม่ออก ฉะนั้น นักทฤษฎีการละครหลายท่านจึงเรียก Farce ว่าเป็น คอเมดี้ชั้นต่ำ (Low Comedy) และรวม Farce เข้าไว้ในหมวดหมู่เดียวกับ Comedy โดยถือว่าเป็นละครตลกเช่นเดียวกันและมีความแตกต่างกันที่ระดับเท่านั้น แต่อีกหลายท่านก็แยก Farce ออกจาก Comedy โดยให้ความเห็นว่า Farce มีความแตกต่างจาก Comedy เท่าๆ กับที่ MELODRAMA แตกต่างจากTRAGEDY อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาศิลปะการละคร ควรจะมีความเข้าใจถึงลักษณะของ Comedy ประเภทใหญ่ดังนี้ คือ



สุขนาฏกรรม (Romantic Comedy)


ละคร comedy ประเภทนี้ถือเป็น วรรณกรรมชั้นสูง เช่น สุขนาฏกรรมของ วิลเลียม เชกสเปียร์ เรื่อง เวนิสวานิช (The Merchants Of Venice), ตามใจท่าน (As You Like It) และ ทเวลฟธ์ ไนท์ (Twelfth Night) ฯลฯ เป็นต้น ละครประเภทนี้นิยมใช้เรื่องราวที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็เป็นเรื่องราวที่น่าเชื่อ สมเหตุสมผล ตัวละครจะประกอบด้วยพระเอกนางเอกที่มีความสวยงามตามอุดมคติ พูดจาด้วยภาษาที่ไพเราะเพราะพริ้ง และมักต้องพบกับอุปสรรคเกี่ยวกับความรักในตอนต้น แต่เรื่องก็จบลงด้วยความสุข ซึ่งมักจะเป็นพิธีแต่งงานหรือการเฉลิมฉลองที่สดชื่นรื่นเริง


แต่บทบาทสำคัญที่ดึงดูดความสนใจและเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูในละครประเภทสุขนาฏกรรมนี้มักไปตกอยู่กับ ตัวละครที่มีลักษณะเป็นตัวตลกอย่างแท้จริง หาใช่ตัวพระเอกหรือนางเอกไม่ ตัวตลกเหล่านี้รวมถึงตัวตลกอาชีพ (clown) ที่มีหน้าที่ยั่วให้คนหัวเราะด้วยคำพูดที่คมคาย เสียดสี หรือการกระทำที่ตลกโปกฮา ซึ่งฉากการแสดงตลกในสุขนาฏกรรมเหล่านี้ บางครั้งก็เต็มไปด้วยความขบขันจากนิสัยใจคอและคารมที่แยบคายลึกซึ้งในลักษณะของ comedy แต่บางครั้งก็มีลักษณะเอะอะตึงตังใกล้เคียงไปทาง Farce แต่เมื่อพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของเรื่องราวที่ผูกขึ้นอย่างมีศิลปะ บทเจรจาซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาที่ไพเราะเพราะพริ้งเข้าขั้นภาษาในวรรณคดี และตัวละครส่วนใหญ่ที่มีความน่าเชื่อในลักษณะนิสัย ก็ต้องถือว่าเป็นละครประเภทสุขนาฏกรรมหาใช่ Farce ไม่
เรื่องประเภทสุขนาฏกรรมนี้ แม้จะจัดอยู่ในประเภท Comedy แต่ก็มิใช่ละครตลกขบขันอย่างแท้จริง ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องเช่น comedy ประเภทอื่น คือมีลักษณะเป็นวรรณกรรมการละครที่มีความงดงามทั้งในแง่ภาษาและภาพที่ปรากฏบนเวที ให้ความสุขแก่ผู้ชมจากหัวเราะฉากตลกต่าง ๆ และจากการที่ตัวเอกได้พบกับความสมหวังเกี่ยวกับความรักในตอนจบ ฉะนั้น comedyประเภทนี้ จึงเป็นละครประเภทเดียวในบรรดา comedy ทั้งหลายที่สมควรจะเรียกได้ว่า
“สุขนาฏกรรม”

ที่มาของ Comedy


ที่มาของ Comedy

ละครประเภท Comedy ซึ่งมีลักษณะเป็นละครประเภทตลกขบขัน ถือกำเนิดมาจากพิธีเฉลิมฉลองเทพเจ้าDIONYSUSของกรีกเช่นเดียวกับละครประเภทTRAGEDY ในขณะที่TRAGEDYพัฒนามาจากการขับร้องเพลงสวดบูชาที่เรียกว่า DYTHYRAMB ซึ่งเป็นส่วนที่มีลักษณะเป็นพิธีการนั้น Comedy ก็พัฒนามาจากการขับร้องเพลงสนุกสนานเฮฮา (revel – song) ของพวกที่ติดตามขบวนที่แห่แหนเทวรูปของDIONYSUS




กล่าวคือ ชาวกรีกถือว่าเทพเจ้าDIONYSUSเป็นเทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่น ฤดูใบไม้ผลิ และความอุดมสมบูรณ์ สามารถนำความชื่นชมแห่งชีวิตมาสู่มนุษย์ได้ ดังนั้น เพื่อที่จะแสดงถึงความชื่นชมในชีวิตอันมีเทพเจ้าDIONYSUSเป็นสัญลักษณ์ บรรดาผู้รักความสุขสนุกเฮฮาทั้งหลายจึงพากันแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าและหน้ากากที่แสดงถึงความสนุกรื่นเริง แบกเหยือกเหล้าองุ่นซึ่งคงจะได้ดื่มมาบ้างแล้วจนเกิดความคึกคักในจิตใจ ร้องเพลงอย่างสนุกสนานติดตามท้ายขบวนแห่ไป ระหว่างที่ดื่มเหล้าองุ่นไปร้องเพลงไปนั้น ก็มีการแต่งคำพูดคำกลอนล้อเลียนเสียดสีกันอย่างตลกขบขัน บรรดาชาวบ้านชาวเมืองที่รักสนุกต่างก็พากันมาร่วมรื่นเริงและสรรหาถ้อยคำมาเจรจาล้อเลียนโต้ตอบกับพวกตลกท้ายขบวนแห่เหล่านี้็็ จนทำให้เกิดมีทั้งบทเจรจาและบทเพลงซึ่งสนุกสนานครึกครื้น กลายเป็นประเพณีนิยมที่ถือปฏิบัติกันตลอดมาจนกระทั่งพวกตลกท้ายขบวนแห่และการสรวลเสเฮฮาดังกล่าวมาได้ชื่อเรียกว่า “โคมุส” (Comus) และเพลงที่พวกนี้ขับร้อง ซึ่งเต็มไปด้วยถ้อยคำล้อเลียนเสียดสีตลกขบขันก็มาได้ชื่อว่า “โคมุส – โอด” ( Comus – Ode) ซึ่งอาจแปลได้ว่า “เพลงเฮฮา” (revel – song)

และต่อมาเมื่อ “เพลงเฮฮา” ดังกล่าวได้มีการพัฒนาไปจนกลายเป็น "ละครตลก" ซึ่งมีทั้งนักแสดงและกลุ่มนักร้อง ละครตลกที่เกิดขึ้นจึงได้ชื่อเรียกว่า คอเมดี ( Comedy ) และคำนี้ก็ยังใช้เรียกละครที่มีลักษณะตลกขบขันมาจนถึงทุกวันนี้

จาก Farce ไปสู่ Comedy


เมื่อได้ทราบถึงลักษณะของละครตลกขั้นพื้นฐานหรือ Farce พอสมควรแล้ว ผู้ศึกษาคงจะพร้อมที่จะทำความเข้าใจกับละครตลกในขั้นที่สูงขึ้นไปคือ Comedy ซึ่งก็มีวิวัฒนาการจากละครตลกขั้นพื้นฐานนั่นเอง แต่ละครตลกประเภท Comedy นั้น เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์มีวัฒนธรรมมากขึ้น มีขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาที่ไพเราะเพราะพริ้งขึ้น มีความคิดอ่านที่สุขุมรอบคอบและอารมณ์ขันที่ลึกซึ้งขึ้น จึงทำให้รู้จักคิดสร้างสรรค์ละครตลกที่แนบเนียนคมคาย แทนที่จะเป็นตลกชนิดโจ่งแจ้ง โปกฮา เอะอะตึงตัง และใช้ท่าทางมากเท่ากับตลกประเภท Farce แต่ในขณะเดียวกัน Comedy ที่เกิดขึ้นในสมัยแรก ๆ เช่น Comedy ของกรีกในสมัยศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ก็มีลักษณะตลกโปกฮาของ Farce แทรกอยู่เป็นอันมาก และแม้ใน Comedy ประเภทสุขนาฏกรรมของเชกสเปียร์เองก็ยังมีบทบาทที่มีลักษณะเป็น Farce เฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของตัวตลกและตัวคนใช้แทรกอยู่มิใช่น้อย

วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2551

หลักสำคัญของ Farce






หลักสำคัญของ Farce


หลักสำคัญอีกประการหนึ่งในการสร้างสรรค์ละครประเภท Farce ก็คือ ผู้ชมจะหัวเราะ ตราบใดที่เชื่อในบทบาท และความจริงใจของตัวละคร ซึ่งกระทำในสิ่งผิดพลาดหรือโง่เขลาอย่างน่าขบขัน แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ตัวละครทำก็จะต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทรมานที่จริงจังจนเกินไป ฉะนั้น ลีลาในการแสดงจึงเป็นความสำคัญยิ่งต่อละครประเภทนี้ อาทิเช่น การหกล้มหรือตกบันไดของตัวละครจะต้องดูเหมือนไม่แกล้งทำ ต้องให้คนดูเชื่อได้ว่าตัวละครหกล้ม หรือตกบันไดจริงๆ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าแสดงอย่างจริงจังเกินไป เช่น ให้คนดูเห็นตัวละครหัวฟาดลงกับพื้น และฟุบแน่นิ่งไป คนดูจะหยุดหัวเราะทันที เพราะเกิดห่วงใยสวัสดิภาพของตัวละคร หรือของนักแสดงแทน เพราะคนดูจะใช้ อารมณ์ แทนความคิด และจะเกิดความสงสารขึ้นอย่างจริงจัง และละครเรื่องนั้นก็จะขาดลักษณะของละครที่ทำให้เกิดความรู้สึกขบขันไปในทันที

ละครประเภท Farce

Charlie Chaplin
นักแสดงภาพยนต์ใบ้ประเภท Farce ที่มีความดีเด่นอย่างหาตัวจับได้ยาก
ในแง่ของศิลปะการแสดง


ละครประเภท Farce
ละครประเภท Farce มักจะเรียกเสียงหัวเราะจากการพลิกความคาดหมายของผู้ชมด้วยสถานการณ์ที่เหลือเชื่อ และเกือบจะเป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ในโลกของ Farce คนดูจะยอมรับว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ ตราบใดที่นักแสดงให้ความจริงใจกับบทบาทอย่างไม่มีการเสแสร้งแกล้งทำ และลีลาของการแสดงว่องไวรวดเร็วจนคนดูไม่มีเวลาคิดเรื่องเหตุผล เพราะมัวแต่หัวเราะกับเรื่องราวที่สับสน ท่าทางและการกระทำของตัวละคร ตลอดจนมุขตลกต่างๆที่เกิดขึ้นจากความสามารถและปฏิภาณของนักแสดง

ฟาร์ส (FARCE)


ละครประเภทตลกขบขัน หรือที่เรียกว่า ฟาร์ส (FARCE)

FARCE ถือเป็นละครตลกที่เก่าแก่ที่สุด เกิดขึ้นก่อนที่จะมีภาษาที่ไพเราะหรือวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการละครหลายท่านมีความเห็นว่า Farce ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของละครตลกทั่วไปนั้น คงจะเกิดขึ้นจาก ธรรมชาติของมนุษย์ที่รู้จักหัวเราะให้กับข้อบกพร่อง และความผิดพลาดของตนเอง และผู้อื่น ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์ ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ลำบากยากเข็ญ หรือไม่สบอารมณ์ตัวเองได้ ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็ได้รับความสุขและการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการหัวเราะ
ฉะนั้น มนุษย์จึงนิยมที่จะหาวิธีกระตุ้นให้เกิดอาการหัวเราะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจขึ้น การแสดงกิริยาอาการที่ทำให้เกิดความขบขัน จึงเป็นที่มาของละครตลกขั้นพื้นฐานคือ Farce นี้ เชื่อกันว่าการแสดงตลกดังกล่าวคงจะมีมาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มจะมีความเป็นอยู่ที่ดีพอ ไม่ต้องพะวงกับการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชีวิตจนเกินไป มีเวลาให้กับการพักผ่อนหย่อนใจ และการแสวงหาความสุขสนุกสนานพอสมควร มนุษย์ก็เริ่มนำการแสดงที่ชวนให้ขบขันเข้ามาแทรกในการแสดงที่เคยเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ หรือจริงจังมาแต่เดิม เช่น ในการทำพิธีที่เคยเป็นแบบเวทย์มนต์คาถาอันศักดิ์สิทธิ์ทำนอง “ตัดไม้ข่มนาม” ที่กำหนดให้มีนายพรานออกมาร่ายรำทำท่าฆ่าสัตว์ที่ชนเผ่านั้นต้องการจะจับ แทนที่จะให้ผู้แสดงเต้นรำเป็นนายพรานฟันถูกผู้แสดงเป็นสัตว์เช่นที่เคยเป็นมาในการแสดงที่เป็นพิธีการ นายพรานก็กลับฟันที่ไรพลาดทุกที จนกระทั่งบางครั้ง นายพรานซึ่งควรที่จะมีการเก่งกาจ สง่าผ่าเผย กลับเงอะงะ หกล้มหกลุกเป็นที่ตลกขบขันสรวลเสเฮฮาของบรรดาคนในเผ่าที่นั่งล้อมวงดูกันอยู่อย่างสบอารมณ์ยิ่งนัก

วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2551

ลักษณะสำคัญของละครประเภท TRAGEDY


นับตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลเป็นต้นมา ละครประเภท TRAGEDY ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมการละครที่ดีเด่นเหนือวรรณกรรมการละครประเภทอื่นๆ และถึงแม้ว่า ละคร TRAGEDYจะได้พัฒนาไปตามกาลเวลา เป็นผลให้ TRAGEDYสมัยต่างๆ มีความแตกต่างกันไปตามรสนิยม และ ค่านิยมของแต่ละสมัย ลักษณะสำคัญของ TRAGEDYทุกสมัยก็ยังมีหลายประการที่คล้ายคลึงกัน เป็นต้นว่า
· ต้องเป็นเรื่องที่แสดงถึงความทุกข์ทรมานของมนุษย์ และจบลงด้วยความหายนะของตัวเอก
· ตัวเอกของ TRAGEDYต้องมี ความยิ่งใหญ่ (tragic greatness) เหนือคนทั่วๆไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องมี ข้อบกพร่องหรือผิดพลาด (tragic flaw) ที่เป็นสาเหตุของความหายนะที่ได้รับ
· ฉากต่างๆที่แสดงถึงความทรมานของมนุษย์จะต้องมีผลทำให้เกิด ความรู้สึกสงสาร (pity) และ ความกลัว (fear) อันจะนำผู้ชมเข้าไปสู่ ความเข้าใจชีวิต (enlightenment)
· มีความเป็นเลิศในเชิงศิลปะ และ วรรณคดี
· ให้ความรู้สึกอันสูงส่งหรือความรู้สึกผ่องแผ้วในจิตใจ (exaltation) และการชำระล้างจิตใจจนบริสุทธิ์ (catharsis)

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551

พัฒนาการต่อมาของละครประเภท TRAGEDY


หลังจากที่ THESPIS ได้เริ่มพัฒนาบทเพลงสวดบูชาที่เรียกว่า DYTHYRAMB มาเป็นบทละครที่มีบทเจรจาโต้ตอบกันระหว่าง ACTOR กับกลุ่ม CHORUS ซึ่งกลายเป็นบทละครประเภท TRAGEDY แล้ว ต่อมาก็ได้มีผู้ปรับปรุงแกไขบทละครประเภทนี้ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือ AESCHYLUS ได้เพิ่มนักแสดงขึ้นเป็น 2 คน และ SOPHOCLESได้เพิ่มจำนวนนักแสดงขึ้นเป็น 3คน ซึ่งทำให้เกิดการเป็น “ประเพณีนิยม” (CONVENTION) ของละครกรีกโบราณว่า จะต้องมีกลุ่ม CHORUS และตัวละครซึ่งมีบทเจรจาโต้ตอบกันในฉากหนึ่งๆ ไม่เกิน 3 คน ทั้งนี้หมายความว่า ในละครเรื่องหนึ่งๆ อาจมีตัวละครเกินกว่า 3 ตัวได้ แต่ตัวละครเหล่านั้นจะออกมาพูดในฉากเดียวกันเกินกว่าฉากละ 3 คน ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะมีนักแสดงเพียง 3 คน นักแสดงเหล่านั้น จะแสดงเป็นตัวละครทุกตัวในเรื่อง โดยแบ่งบทกันไปตามความเหมาะสม นักแสดงคนหนึ่งอาจแสดงได้หลายบทโดยการใช้การเปลี่ยนหน้ากาก เสื้อผ้า ลีลาการแสดงของตน ฉะนั้นผู้เขียนบทละครกรีกโบราณจึงต้องเขียนบทให้มีตัวละครซึ่งมีบทเจรจาโต้ตอบกันในฉากหนึ่งๆ ไม่เกิน 3 คน เพื่อให้เหมาะสมกับประเพณีการละครดังกล่าว

TRAGEDY พัฒนามาจากเพลง DYTHYRAMB ได้อย่างไร


ก่อนที่จะเกิดมีละครประเภท TRAGEDY ขึ้น การขับร้องเพลง DYTHYRAMB เพื่อสรรเสริญเทพเจ้า DIONYSUS นั้น มิได้มีการแต่งไว้ล่วงหน้า ชาวกรีกที่มาในพิธีบวงสรวงเทพเจ้า DIONYSUS จะพากันดื่มเหล้าองุ่นซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าจนมึนเมา และมีความรู้สึกว่ามีความเป็น “เทพ” เยี่ยง DIONYSUS สามารถร้องเพลงและร่ายรำเพื่อแสดงออกถึงความชื่นชมในชีวิต ฉะนั้น จึงพากันขับร้องเพลงที่แต่งกันสดๆในขณะนั้น เพื่อสดุดีเทพเจ้า DIONYSUS ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่น พืชพันธุ์ธัญญาหาร ฤดูใบไม้ผลิ ความอุดมสมบูรณ์ และชีวิต

มีผู้สันนิษฐานว่า ในราว 600ปีก่อนคริสตกาล ได้มีผู้ริเริ่มประพันธ์คำร้องที่ใช้ในบทเพลงสวดบูชาที่เรียกว่า DYTHYRAMB ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้กลุ่ม CHORUS ขับร้องในพิธีบวงสรวงเทพเจ้า DIONYSUS แทนการร้องแบบ “กลอนสด” (IMPROVISATION) ที่เคยทำกันมาแต่เดิม


ครั้นต่อมาก็มีบุคคลสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์การละครชื่อว่า “เธสพิส” (THESPIS) เขาได้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการขับร้องเพลง DYTHYRAMB ด้วยการริเริ่มให้มี “นักแสดง” (ACTOR) คนแรกขึ้น เพื่อให้สามารถมีบทเจรจาโต้ตอบกับ CHORUS ได้ พัฒนาการไปสู่การละครจึงเกิดขึ้น กล่าวกันว่า THESPIS เองทำหน้าที่เป็นนักแสดงคนแรกนี้ อย่างไรก็ตามมีหลักฐานปรากฏว่า THESPIS ผู้นี้ได้รับรางวัลในการประกวด TRAGEDY ที่จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก ณ นครเอเธนส์ ในปี 534 ก่อนคริสตกาล

TRAGEDY

AESCHYLUS

SOPHOCLES


EURIPIDES
TRAGEDY ถือกันว่าเป็นวรรณกรรมการละครที่เก่าแก่ที่สุด และมีค่าสูงสุดในเชิงศิลปะและวรรณคดี ละครประเภท TRAGEDYถือกำเนิดขึ้นในประเทศกรีซ และพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ภายใต้การนำของ เอสคิลุส (AESCHYLUS, 525-456 B.C.) โซโฟคลีส (SOPHOCLES, 496-406 B.C.) และยูริพิดีส (EURIPIDES, 484-406 B.C.) นักเขียนบทละครประเภท TRAGEDYผู้ยิ่งใหญ่แห่งนครเอเธนส์ในสมัยศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล

ความหมายของคำว่า TRAGEDY
คำว่า TRAGEDY มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ TRAGOS ซึ่งแปลว่า แพะ และ ODE ซึ่งแปลว่า เพลง ฉะนั้นถ้าดูตามรูปศัพท์แล้ว TRAGEDY จึงแปลว่า เพลงแพะ ซึ่งความหมายดังกล่าวบ่งให้เห็นชัดถึงความสัมพันธ์ของละครประเภทนี้ กับพิธีบวงสรวงทางศาสนา กล่าวคือในสมัยที่ละครประเภท TRAGEDYถือกำเนิดขึ้นในประเทศกรีซนั้น เป็นสมัยที่ชาวกรีกนับถือเทพเจ้าไดโอไนซุส (DIONYSUS)ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่น พืชพันธุ์ธัญญาหาร ฤดูใบไม้ผลิ ความอุดมสมบูรณ์ และชีวิต
ในระยะเริ่มแรกการบวงสรวงเทพเจ้า DIONYSUS ประกอบด้วยการขับร้องเพลงสวดบูชาที่เรียกว่า “ดิธีแรมบ์” (DYTHYRAMB) ซึ่งได้มีผู้สันนิษฐานว่าในสมัยโบราณ เมื่อมีการขับร้องเพลง DYTHYRAMB คงจะมีการใช้มนุษย์บูชายัญ ต่อมาเห็นว่าเป็นการทารุณ จึงเปลี่ยนมาใช้แพะแทน และในสมัยหลัง แทนที่จะฆ่าแพะก็ให้แพะเป็นรางวัลแก่กลุ่มนักร้อง หรือ CHORUS ที่ขับร้องเพลง DYTHYRAMBได้ดีที่สุด ฉะนั้น ละครประเภทTRAGEDYซึ่งถือกำเนิดมาจากการขับร้องเพลง DYTHYRAMBจึงมีความหมายตามศัพท์กรีก ว่า “เพลงแพะ”

ประเภทของละคร

1. ละครประเภท โศกนาฏกรรม หรือที่เรียกว่า แทรจิดี้ (TRAGEDY)
2. ละครประเภทตลกขบขัน หรือที่เรียกว่า ฟาร์ส (FARCE) และ คอเมดี้ (COMEDY)
คอเมดี้ (COMEDY) ประเภทต่างๆ
2.1 สุขนาฏกรรม (ROMANTIC COMEDY)
2.2 ละครตลกชั้นสูง (HIGH COMEDY) หรือ ตลกผู้ดี (COMEDY OF MANNERS)
2.3 ละครตลกประเภทเสียดสี (SATIRIC COMEDY)
2.4 ละครตลกประเภทความคิด (COMEDY OF IDEAS)
2.5 ละครตลกประเภทสถานการณ์ (SITUATION COMEDY)
2.6 ละครตลกประเภทโครมคราม (SLAPSTICK COMEDY)
2.7 ละครตลกรักกระจุ๋มกระจิ๋ม(SENTIMENTAL COMEDY)และละครเศร้าเคล้าน้ำตา (
TEARFUL COMEDY)
3. ละครอิงนิยาย หรือที่เรียกว่า โรมานซ์ (ROMANCE)
4. ละครประเภทเริงรมย์ประเภท เมโลดรามา (MELODRAMA)
5. ละครสมัยใหม่ (MODERN DRAMA)
5.1 ละครสมัยใหม่แนว “เหมือนชีวิต” (REALISM) และ แนทเชอรัลลิสม์ (NATURALISM)
5.2 ละครสมัยใหม่แนว “ต่อต้านเรียลิสม์” (ANTI-REALISM)
5.2.1 ละครแนวสัญลักษณ์ หรือ ซิมโบลิสม์ (SYMBOLISM)
5.2.2 ละครแนว “โรแมนติก” (ROMANTIC) หรือ “โรแมนติซิสม์” (ROMANTICISM) สมัยใหม่
5.2.3 ละครแนว “เอกเปรสชั่นนิสม์ (EXPRESSIONISM)
5.2.4 ละครแนว “เอพิค” (EPIC)
5.2.5 ละครแนว “แอบเสิร์ด” (ABSURD)

วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2551

เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับ ละครเวที ตอนที่ 3

อยากเล่นละครอีกจัง” ความรู้สึกนี้วนเวียนอยู่ในสมองของข้าพเจ้าตลอดมา เพราะตอนนั้น (เด็กๆ) เห็นว่า ถ้าได้เล่นละคร หรือร่วมกิจกรรมของสวนสุนันทาแล้ว ข้าพเจ้ามีความสนุก ได้เจอเพื่อนๆพี่ๆ ไม่ต้องเข้าห้องเรียน ได้เล่นเป็นตัวละครต่างๆ ได้ความรู้จากเรื่องที่เล่น เพราะส่วนใหญ่จะเอาเรื่องในวรรณคดีมาเล่น
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ประมาณปี2515 สวนสุนันทามีงานใหญ่อีกแล้ว โดยจะทำละครกลางแจ้ง เรื่อง ธรรมมา ธรรมะ สงคราม เป็นพิธีกวนน้ำอมฤตระหว่างเทวดา กับยักษ์ โดยเอาพญานาคมาพันรอบเขาพระสุเมรุ ฉากเป็นป่าหิมพานต์ มีภูเขา มีต้นไม้ แน่นอนต้องมีสัตว์ป่า ข้าพเจ้ามิรอช้า ไปหาครูจรูญศรี ครูเห็นข้าพเจ้าปุ๊บ ครูบอกว่า “แก้ว มีบทนึงเหมาะกับเธอมาก” ข้าพเจ้าดีใจมาก ได้เล่นละครอีกแล้ว “บทอะไรครับครู” ข้าพเจ้าถาม ครูบอก “ตัวละครนี้ต้องเธอเล่น คือตัวลิงที่อยู่ในป่าหิมพานต์ เธอกับเพชรเล่นเป็นลิง” ฮ่าๆๆๆๆๆ ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้เล่นละครอีกแล้ว บทลิงก็ยังดี ต้องมีการซ้อมเดิน เกา ตีลังกา ต้องร้อง “เจี๊ยกๆ” ตอนที่ครูสอนให้เกา ข้าพเจ้าก็เกาแบบไม่รู้ ครูบอกว่า “ลิงต้องหงายมือเกาขึ้น ถ้าเกาลงเป็นอะไรรู้ไหม” “เป็นยักษ์ครับ” “ผิด เธอลองคิดดูให้ดี สัตว์อะไรที่เอามือเกาตัวเองแล้วคว่ำมือลง” “อ๋อ....หมาครับ” ครูจรูญศรียิ้มแล้วตอบข้าพเจ้าว่า “ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อเธอเล่นเป็นลิง ต้องเกาขึ้น อย่าเป็นลิงแบบหมา เข้าใจไหม” คำๆนี้ข้าพเจ้าจำได้จนปัจจุบันนี้ ลิงเกาขึ้น หมาเกาลง “ส่วนเรื่องท่าทางซุกซนของลิง ครูคงไม่ต้องสอนพวกเธอหรอกนะ” ครูพูดยิ้มๆ อะไรกันครับครู ผมว่าผมเรียบร้อยแล้วนะ ได้เข็มเด็กดีด้วย “ครูว่าลิงจริง ยังซนไม่เท่าพวกเธอ” แป่วววววววววว มีพี่อีกคนเค้าเล่นเป็นช้าง น่าสงสารเค้าเพราะข้าพเจ้าคิดว่าต้องร้อนและเมื่อยมาก เค้าต้องใส่ชุดช้าง สวมหัวช้าง แล้วที่สำคัญ เค้าต้องเดินแบบก้มๆตลอด มือสองข้างต้องจับขาช้างปลอม เค้าจะทำขาหน้าช้างปลอมให้ เพราะเวลาเดินเท้าทั้งสี่ข้างของช้างจะได้เท่ากัน ข้าพเจ้าชอบวิ่งไปกระโดดขี่หลังเล่น แล้วชอบทำหัวช้างของพี่เค้าหลุดบ่อยๆ ครูก็จะดุ แต่ข้าพเจ้ากระซิบบอกพี่เค้าว่า “พี่ครับ ผมแกล้งให้มันหลุดเอง เพราะตอนนั้น คนอื่นจะได้เห็นหน้าพี่ไง เค้าจะได้รู้ว่าพี่เล่นเป็นช้าง”

วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2551

สิ่งที่นักแสดงจะต้องจำไว้เสมอ

สิ่งที่นักแสดงจะต้องจำไว้เสมอก็คือ
อย่าพยายามสร้างความประทับใจ
อย่า “แสดง” (PERFORM) แต่จง “แสดงออก” (EXPRESS)

ทุกคนย่อมต้องการให้ผลงานของตนได้รับการยอมรับ เป็นที่นิยมชื่นชอบต่อผู้ที่ได้พบเห็น แต่ความต้องการดังกล่าวหากมีมากเสียจนกลายเป็น “เหตุผลสำคัญที่สุด” ที่อยู่เบื้องหลังผลงาน หรือมากเสียจนบดบัง “ความต้องการที่จะแสดงออก” (NEED TO EXPRESS) เพื่อให้ผู้อื่นได้ “ร่วมรู้เห็น" (SHARE) ความประทับใจ แง่คิด ความเห็น หรือความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อ “ความจริง” (TRUTH) บางประการเกี่ยวกับชีวิตและมนุษย์ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดสร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นนั้น เมื่อนั้น ความต้องการความสำเร็จดังกล่าว อาจทำให้งานที่สร้างขึ้นนั้น ขาด"ความจริงใจ"ในการแสดงออก ขาด “ความจริง” ของผู้สร้างสรรค์ และเสียคุณค่าในเชิงศิลปะไปอย่างน่าเสียดาย

การใช้ศัพท์ทางการแสดงที่ผิดพลาด

การใช้ศัพท์ทางการแสดงที่ผิดพลาด ทำให้นักแสดง “หลงทาง”
ผู้กำกับการแสดงมักนิยมนำคำว่า โอเว่อร์ (มาจากคำว่า OVER ACTING หมายถึงการแสดงที่มากเกินไปจนลายเป็นการแสดงเสแสร้งแกล้งทำ) ไปใช้แทนที่คำว่า EXAGGERATION ซึ่งหมายถึง การเพิ่ม “พลัง” หรือ “ขนาด” ของการแสดงให้มากว่า ใหญ่กว่า เกิน หรือกว้างไกลกว่าความเป็นจริงตามธรรมชาติ แต่เป็นการ “เพิ่ม” โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ความริง (TRUTH) จึงไม่ใช่การเสแสร้งแกล้งทำ หรือ จงใจแสดง ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่นำไปสู่การแสดงแบบ “เสแสร้ง” และ “จงใจ” ในละครที่ต้องใช้การแสดงประเภท EXAGGERATION อาทิ ละครตลกประเภท FARCE หรือ ละคนสมัยใหม่แนวต่อต้านสัจจนิยมบางแนว เช่น ละครประเภท ABSURD เป็นต้น

วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2551

ปัญหาของการแสดงที่มักพบ

มีหลักปฎิบัตที่มักใช้กันอย่างแพร่หลาย (COMMON PRACTICE) และได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งว่าถูกต้อง แต่แท้จริงกลับเป็นสิ่งที่ทำให้นักสดง “หลงทาง” อาจเรียกได้ว่า “สมาธิผิดที่” และนำไปสู่ปัญหาของการแสดง ได้แก่

- การเริ่มต้นที่อารมณ์ความรู้สึก โดยนักแสดงพยายาม “สร้าง” (BUILD) อารมณ์ไว้ล่วงหน้า หรือผู้กำกับสั่งให้นักแสดง “สร้าง” (BUILD) อารมณ์ มักทำให้นักแสดง “หลงทาง” และนำไปสู่ “การแสดงที่ใช้อารมณ์เกินขอบเขต” (EMOTIONALISM) จนถึงขั้นที่นักแสดงควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ (HYSTERICAL ACTING) ซึ่งเป็นการทำลาย “ศิลปะ” ของการแสดงอย่าสิ้นเชิง

- ความตั้งใจที่จะแสดงให้เห็น “ลักษณะนิสัย" (CHARACTER) ของตัวละครซึ่งนำไปสู่การแสดงอย่าง “จงใจ”แทนการแสดงอย่าง “จริงใจ

- วิธีการ (APPROCH) ที่ผิดพลาดของผู้กำกับการแสดงที่บอกให้นักแสดง “เปลี่ยน” จากตัวเองไปเป็นตัวละครในเรื่อง มักนำไปสู่ปัญหา “สูตรสำเร็จรูป” ที่ขาด “ความจริง” ทางศิลปะการละคร

- นักแสดงที่สมาธิกับ “ความพยายามแสดงให้ดี” เป็นการสมาธิผิดที่ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาของการแสดง

ความจริง (TRUTH)

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ละครเป็นงานสร้างสรรค์ที่มีศิลปะ ก็คือ ความจริง (TRUTH) และความจริงใจ (SINCERITY) ในการนำเสนอ (PRESENTATION) หรือแสดงออก (EXPRESSION) ซึ่งความจริงอันนั้น

ความจริง (TRUTH)ในละครที่ผู้กำกับการแสดงต้องหาให้พบและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนลงมือกำกับการแสดง ก็คือ สัจธรรมของผู้ประพันธ์ หรือ
ความจริงที่ละครเรื่องนั้นต้องการสื่อสารกับผู้ชม

ปัญหาที่เป็นอุปสรรคสูงสุดต่อการพัฒนาต่อการพัฒนาการของการแสดงที่เป็นศิลปะและเป็นมูลเหตุสำคัญของปัญหาอื่นๆที่ติดตามมาก็คือ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความจริง (TRUTH) ในการแสดง ได้แก่
- ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “การแสดง” ว่าเป็นการเสแสร้งปั้นแต่งกิริยาขึ้นโดยปราศจาก “ความจริง” ใดๆ

- ความเข้าใจผิดที่ทำให้เกิดความเชื่อว่า เมื่อเป็น “ละคร” แล้ว ไม่จะเป็นต้อง “จริง” หรือ “เป็นตัวละคร” แล้วต้อง “ไม่จริง” ซึ่งนำไปสู่การยอมรับการแสดงที่มีลักษณะ “เสแสร้งแกล้งทำ” ในวงกว้าง ทำให้ยากต่อการแก้ไข

- ความสับสนระหว่างความหมายของคำว่า ความจริง (TRUTH) กับ ความเป็นจริง(REALITY) ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดที่ว่า ละครที่มี ความจริง (TRUTH) จะต้องเป็นละครที่เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ความเป็นจริง(REALITY) ของชีวิตในแนว สัจจนิยม (REALISM) และธรรมชาตินิยม (NATURALISM) เท่านั้น ส่วนละครประเภทอื่นๆ หรือแนวอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งละครสมัยใหม่ที่เสนอในแนวที่เรียกโดยรวมว่า “แนวต่อต้านสัจจนิยมและธรรมชาติ (ANTI-REALISM AND NATURALISM) นั้น ไม่จำเป็นต้องมี หรือไม่ควรมี ความจริง (TRUTH)ซึ่งความเข้าใจผิดดังกล่าวนำไปสู่การเสนอละคร “จงใจ”แสดงแนวต่างๆ โดยมุ่งเน้นที่รูปแบบ (FORM) มากกว่าเนื้อหา (CONTENT) เป็นผลให้การแสดงขาดความจริงใจ (SINCERITY) และขาดศิลปะในแง่ของการละคร

- การเข้าใจผิดว่า “การแสดงเป็นธรรมชาติอย่างจอมปลอม” (FAKED NATURALISM) คือการให้ ความจริง (TRUTH) แก่บทบาทการแสดง ซึ่งนำไปสู่การแสดงที่ “จงใจ”เสนอความเป็นธรรมชาติโดยปราศจาก “ความจริงภายใน” (INNER REALISM) ทำให้ขาดศิลปะของการแสดงอย่าสิ้นเชิง

- ความเข้าใจผิดที่ว่า“การลอกเลียนธรรมชาติอย่างละเอียดลออทุกกระเบียดนิ้ว”(PHOTOGRAPHIC COPYING) กับ ความจริง(TRUTH) ในละครเป็นสิ่งเดียวกัน ทำให้ทั้งผู้กำกับการแสดง และนักแสดงมุ่งเน้นรายละเอียดปลีกย่อยจนกระทั่งบดบัง ความจริง (TRUTH) ที่ละครเรื่องนั้นต้องการเสนอ

วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2551

เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับ ละครเวที ตอนที่ 2

เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับ ละครเวที ตอนที่ 2

ดังที่ได้เกริ่นไปในตอนที่แล้ว ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกสนุกกับการแสดง (ทั้งๆที่จริงต้องเรียกว่าแอบดูคนอื่นเค้าแสดง) ข้าพเจ้ามักขอตามคุณพ่อไปทุกครั้งที่สวนสุนันทาจัดละคร มีทั้งละครเวที นาฏศิลป์ ละครพันทาง ละครกลางแจ้ง บางทีมีหนังตะลุงมาให้ดู ซึ่งข้าพเจ้าก็ฟังรู้เรื่องบ้าง เพราะเคยไปบ้านคุณแม่บ่อยๆที่นครศรีธรรมราช (คุณแม่เป็นคนทุ่งสง)

ตอนประถมต้น ประมาณพ.ศ. 2514 มีเพื่อนคุณแม่สอนวิชาขับร้อง ชื่อ อ.จ.ศิริกุล วรบุตร และแน่นอน ลูกสาวเพื่อนคุณแม่ก็เรียนห้องเดียวกับข้าพเจ้า ชื่อกุลชฎา หรือ ปอม สวยและน่ารักมาก ตาโต ผมดำยาว หน้าคม ปอมชอบถักเปีย ข้าพเจ้าชอบแอบไปดึงเปียเล่น โดนอาจารย์ศิริกุลดุบ่อยๆ ช่วยไม่ได้ อ.จ.มีลูกสาวสวยนี่ครับ อ.จ.สอนร้องเพลงสนุกมาก เสียงอ.จ.ก็ไพเราะน่าฟัง รู้สึกว่าอ.จ.จะจบมาจากนาฏศิลป์ อ.จ.สอนข้าพเจ้าทั้งร้องทั้งรำ มีเพลงพม่ารำขวาน ฟ้อนเงี้ยว เพลงวันครู ฯลฯ อีกครั้งหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้ออกโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ข้าพเจ้าเล่นเป็นนายพราน ในเพลงแม่กาเหว่า ที่ร้องว่า(ใครร้องได้ก็ลองร้องตามนะครับ ) “ยังมี หน่อยนิแนะแม่กาเหว่า ชะเอิ่งเงิ้งเงย ยังมี ยังมีแม่กาเหว่า ไข่ไว้ให้แม่กาฟัก แม่กา หน่อยนิแนะก็หลงรัก ชะเอิ่งเงิ๊งเงย แม่กา แม่กาก็หลงรัก คิดว่าลูก ในอุทร คาบข้าว หน่อยนิแนะ เอามาเผื่อ ชะเอ่งเงิ๊งเงย คาบข้าว คาบข้าวมาเผื่อ คาบเอาเหยื่อ มาป้อนฯลฯ” ข้าพเจ้าต้องแต่งตัวเป็นนายพราน ใส่ชุดม่อฮ่อมสีน้ำเงิน ผ้าขาวม้าโพกหัว แต่งหน้าด้วย แถมเขียนหนวดอีก ข้าพเจ้าก็นึกในใจ แล้วเพื่อนๆจะจำเราได้มั๊ยเนี่ยะ อุตส่าห์ได้ออกทีวีทั้งที อ.จ.ศิริกุลก็สอนท่าเต้นให้ ท่าเดิน ท่ามองนก ตืท่ารำตามคำร้อง พอตอนจะออกทีวี ตื่นเต้นมาก ที่ซ้อมมาดูเหมือนมันจะลืมๆ ไม่มั่นใจ อ.จ.บอกว่า ไม่ต้องกลัว ท่านให้ไหว้ครูบาอาจารย์ ให้ครูทั้งหลายมาช่วย ข้าพเจ้าก็ทำตาม แปลกมาก พอระลึกถึงครูแล้ว จิตของข้าพเจ้านิ่ง ความมั่นใจกลับคืนมา ตอนนั้นยังเด็กไม่คิดอะไร ลืมบอกไปว่า สมัยนั้นออกอากาศสด ไม่มีการบันทึกเทป คิดๆดูเราก็เก่งเหมือนกัน ไม่ขายหน้าครูบาอาจารย์ และคุณพ่อคุณแม่ อิอิอิอิอิ

ครูใหญ่ที่ผมรู้จัก





รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล (วานิชวัฒนา)
ใครๆก็เรียกติดปากว่า“ครูใหญ่”เป็นครูที่สอนวิชาการละครอย่างเป็นจริงเป็นจังให้กับข้าพเจ้า และเป็นผู้ที่ทำให้ข้าพเจ้าหันมาเรียนและเข้ามาในวงการละครของคณะอักษรศาสตร์ (รายละเอียดไว้จะเล่าให้ฟังคราวหลัง)




ท่านจบจากร.ร.มาแตร์เดอี รุ่นเดียวกับคุณแม่ของข้าพเจ้า (รุ่น 22) เพื่อนร่วมรุ่นท่านเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้มี ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ, หม่อมหลวงอาบจิตร ไทยวัฒนะ, ท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล, หม่อมเจ้าวุฒิเฉลิม วุฒิชัย, คุณหญิงหม่อมหลวงถวัลย์วดี เตวิทย์, คุณดวงเดือน Karukin, หม่อมราชวงค์ปรียา โสณกุล, คุณมัทนีย์ เศรษบุตร, คุณเยรีนา อับดุลราฮิม, คุณฤดี เพ็ชรชาติ, พ.ต.อ.ท่านผู้หญิงวงศ์พรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, แพทย์หญิงเสาวนีย์ จำเดิมเผด็จศึก, หม่อมราชวงศ์ทิพพาวดี ดุละลัมภะ (มีแต่คนใหญ่คนโต)และ นางชูจิตต์ พรหมสาขา ณ สกลนคร คุณแม่ของข้าพเจ้า (บรรดาศิษย์มาแตร์เพื่อนคุณแม่จะมีการพบปะกันบ่อยๆ ข้าพเจ้ามักขับรถไปส่ง เลยได้พบหน้าค่าตาบ้าง)

เมื่อจบจากร.ร.มาแตร์เดอี ท่านก็มาเรียนต่อจนจบจบอักษรศาสตร์บัณฑิต แล้วไปเรียนต่ออีกในสาขาวิชาที่ในขณะนั้นยังแทบไม่มีใครรู้จักกันในเมืองไทยเลย คือTHEATRE ART ที่ UNIVERSITY OF NORTH CAROLINA ที่ CHAPEL HILL และ UCLA

ท่านเคยอัด Album แผ่นเสียงเพลงไทย ใส่เนื้อร้องสากลในชื่อ THE BUFFALO SONG (เพลงเดิมคือ เจ้าทุยอยู่ไหน) กับบริษัทแผ่นเสียงชื่อดังของสหรัฐฯ ดังเพลงที่ข้าพเจ้า UPLOAD ไว้ข้างบน และเคยเป็นดารา HOLLYWOOD ในสังกัดของบริษัทภาพยนตร์ TWENTIETH CENTURY FOX ก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางกลับมาเมืองไทย มาเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ท่านเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปะการละครขึ้นในคณะอักษรศาสตร์ นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนสาขาวิชาการด้านนี้ และถ้าจำไม่ผิด ท่านยังแต่งเพลงให้จุฬาฯหลายเพลง ที่ข้าพเจ้าจำได้ มีเพลง C.U. POLKA เพลงนึงล่ะ และเมื่อพ.ศ. 2496 ท่านยังประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษถวายในเพลง CANDLELIGHT BLUES ด้วย และท่านยังตั้งรางวัลสำหรับผู้ที่มีใจรักการละครชื่อ “สดใสอวอร์ด” ใครรู้มากกว่านี้ ช่วยเพิ่มเติมให้ด้วยครับ


วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551

เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับ ละครเวที ตอนที่1

เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับ ละครเวที ตอนที่1

อาจกล่าวได้ว่า การแสดงได้ผสมผสานอยู่ในสายเลือดของข้าพเจ้ามาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่คุณพ่อและคุณแม่ข้าพเจ้าเป็นครู คุณพ่อชื่อ อ.วัฒนา สอนวิชาปรัชญา คุณแม่ชื่อ อ.ชูจิตต์ สอนภาษาอังกฤษ และทั้งสองท่านมักสนับสนุนให้ข้าพเจ้าได้แสดงออกตั้งแต่ยังเล็กๆ เช่น ให้ไปออกรายการทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม (สมัยนั้น ปัจจุบันคือ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.) เวลาที่สวนสุนันทามีงานของวิทยาลัย (ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา) คุณแม่มักให้ข้าพเจ้าและน้องๆ (เสนาเพชร และหยก)ได้มีส่วนร่วมในการแสดงแทบทุกครั้งที่มีโอกาส ในสมัยนั้น ข้าพเจ้าเรียนที่ประถมสาธิตของสวนสุนันทา อาศัยอยู่ที่บ้านพักครูในสวนสุนันทา บรรดาครูทั้งหลายก็เป็นรุ่นพี่ รุ่นน้องหรือเพื่อนของคุณพ่อและคุณแม่ของข้าพเจ้า เท่านั้นยังไม่พอ ลูกๆของครูเหล่านั้นก็เป็นพี่ เป็นเพื่อน เป็นน้องของพวกข้าพเจ้าด้วย ทุกคนจะรู้จักกันหมด ด้วเหตุนี้ข้าพเจ้าเลยไม่กล้าทำอะไรผิดระเบีบย และที่สำคัญ ต้องเรียนให้เก่ง เพราะข่าวจะแพร่กระจายไปเร็วมากถ้าใครทำดี หรือทำไม่ดี ด้วยอานิสงส์นี้ ทำให้ข้าพเจ้าเรียนเก่งไปโดยปริยาย เพราะไม่อยากให้บรรดาครูๆที่สอน ซึ้งล้วนรู้จักดีกับครอบครัวข้าพเจ้ามาฟ้องคุณพ่อคุณแม่ และอย่างน้อยเรื่องการเรียนดีของข้าพเจ้า คุณพ่อคุณแม่ได้ภาคภูมิที่จะเอาไปเล่า “อวด” ชาวบ้านเขาได้บ้าง ใครที่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นครูจะรู้ซึ้งดี

ในสมัยนั้น มหรสพจะหาดูได้ค่อนข้างยาก นอกจากงานใหญ่ๆจริงๆ โชคดีที่ท่านผ.อ.สมัยนั้น คุณหญิงกรองแก้ว ปทุมมานนท์ ข้าพเจ้าเรียกท่านว่า คุณย่า (ชื่อเล่นของข้าพเจ้า คุณย่าท่านเป็นคนตั้งให้ โดยเอาชื่อหลังของท่านมาตั้ง) ท่านเคยเขียนนิทานเด็กเป็นเล่มๆ ใช้ชื่อว่า "กรองแก้ว" ท่านสนับสนุนให้นักศึกษาได้มีการแสดงออกในทุกๆด้าน โดยเฉพาะการแสดง มีงานแสดงที่หอประชุมสุนันทานุสรณ์บ่อยมาก คุณพ่อของข้าพเจ้ารับผิดชอบด้านนี้อยู่ ข้าพเจ้ามักติดตามท่านไปดูการแสดงบ่อยๆ จำได้ว่ามีละครเวทีเรื่องนึง ป็นตอนที่มีฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ข้าพเจ้าตามท่านไปอยู่ที่หลังเวที ด้วยความเป็นเด็ก (ประมาณ5ถึง6ขวบ) รู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก ข้าพเจ้าเห็นเค้าเอาสังกะสีมาวางหลังฉาก มีลูกโบว์ลิ่งด้วย ก็คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของฉาก ที่ไหนได้ พอถึงฉากฝนตก พี่คนนึงเอาเม็ดข้าวโพด เม็ดถั่วเขียว มาเทใส่ สังกะสี ข้าพเจ้าเลยอ๋อ...เสียงฝนตก อาอ๋อย อ.พิมล สายจันทร์ดี แกเป็นช่างภาพของสวนสุนันทาก็มีหน้าที่กด FLASH อ๋อ....ฟ้าแลบ คุณพ่อผมมีหน้าที่ช่วยเขย่าสังกะสี (อีกอัน) อ๋อ เสียงฟ้าผ่า รุ่นพี่อีกคนเอาลูกโบว์ลิ่งมากลิ้งบนพื้นเวทีที่เป็นไม้ อ๋อ...เสียงฟ้าร้อง ในตอนนั้นข้าพเจ้าเห็นว่ามันน่าสนุกดี ยืนดูหลังเวทีสนุกกว่าหน้าเวทีอีก วิ่งกันวุ่นวาย ของก็เกะกะ เดี๋ยวคนนั้นวิ่งเข้า คนนี้วิ่งออก นั่นนับเป็นครั้งแรกๆที่ข้าพเจ้ารู้จักคำว่า ที

ความแตกต่าง





ครูใหญ่ (อาจารย์สดใส พันธุมโกมล) ครูผมครับ




ประสบการณ์ที่คนดูได้รับจากการดูละครที่มีลักษณะ แตกต่าง จากการอ่านนวนิยาย หรือการชื่นชมผลงานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ฯลฯ อีกประการหนึ่งก็คือ การมี “อารมณ์ร่วม” กับผู้อื่นในขณะที่ชมละคร ทั้งนี้ เมื่อเราดูละคร เราจะนั่งดูพร้อมๆกับคนอื่นๆอีกหลายคน คือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “ผู้ชม” ในการแสดงละครวันนั้น ข้อนี่เป็นลักษณะสำคัญของศิลปะการละครที่ควรคำนึงถึง เพราะ การแสดงออกของมนุษย์เมื่ออยู่ตามลำพัง กับเมื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่มย่อมแตกต่างกัน ตัวอย่าเช่น เมื่อดูละครตลก เราจะหัวเราะไม่ค่อยออกเมื่อนั่งอยู่คนเดียว แต่ความสนุกสนานตลกขบขันของละครจะเพิ่มมากขึ้นถ้ามีผู้อื่นหัวเราะไปกับเรา ในทำนองเดียวกัน เมื่อดูละครเศร้า เราจะรู่สีกซาบซึ้งมาก ถ้ามีความรู้สึกว่าทุกคนในโรงละครเงียบกริบและกำลังมีความรู้สึกเช่นเดียวกับเรา และเมื่อใดทีเราไปดูละครแต่ไม่มี “อารมณ์ร่วม” กับคนดูอื่นๆ เช่นในขณะที่เรากำลังซาบซึ้งกับบทบาทของตัวละคร ผู้ดูอื่นหัวเราะหรือคุยกันส่งเสียงอื้ออึง เราจะรู้สึกเสียอารมณ์ไปมาก และละครเรื่องนั้นก็ไม่สามารถสื่อความหมายให้แก่เราได้เท่าที่ควร
ที่มา ศิลปะการละครเบื้องต้น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

ศิลปะการละครคืออะไร


ศิลปะการละคร คือ ศิลปะที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ และจินตนาการของมนุษย์ มาผูกเป็นเรื่องและจัดเสนอในรูปแบบของการแสดง โดยมี "นักแสดง" เป็นผู้สื่อ "ความหมายและเรื่องราว" ต่อ "ผู้ชม"

ศิลปะการละคร เป็น "ศิลปะร่วม" ที่รวมศิลปะหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน นับตั้งแต่ศิลปะของการประพันธ์ การแสดง การกำกับการแสดง การออกแบบสร้างฉาก การออกแบบเครื่องแต่งกาย การออกแบบและจัดแสง ตลอดจนศิลปะด้านอื่นๆอีกมาก ซึ่งอาจรวมถึงศิลปะของดนตรี การร่ายรำ หรือการเต้นรำ ฯลฯ ตามแต่ลักษณะและแนวทางการนำเสนอของละครนั้นๆ

ความดีเด่นของศิลปะกาละคร จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการนำศิลปะต่างๆเหล่านี้มารวมกันอย่างได้ผล ทำให้เกิดความประทับใจจาก "ผลรวม" ของละคร ซึ่งนอกจากจะให้ความงดงามและคุณค่าในเชิงศิลปะวรรณกรรมแล้ว ยังให้ "ประสบการณ์ที่มีความหมายต่อชีวิต" ในทางหนึ่งทางใด หรือหลายทาง แก่ "ผู้ชม" อีกด้วย

สดใส พันธุมโกมล

วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ความรู้เรื่องละคร

ผมชื่อ ชาญวุฒิ พรหมสาขา ณ สกลนคร หรือ แก้ว จบการละครจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2527 เคยเล่นละคร เคยทำละคร เคยกำกับการแสดงมาหลาหลายรายการ ปัจจุบันเปิดบริษัทรับผลิตรายการโทรทัศน์ มีพี่น้องเพื่อนฝูงในวงการหลากหลาย อยากทำเวปสักเวปเพื่อการละคร โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทน เพราะเราคิดเสมอว่า เราได้นำวิชาความรู้ที่ครูสั่งสอนมา เช่น อ.จ.สดใส พันธุมโกมล ครูช่าง อ.ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ครูแอ๋ว อ.อรชุมา ยุทธวงศ์ พี่อี๊ด สุประวัติ ปัทมสูต อารอง เค้ามูลคดี และอีกหลากหลายผู้มีความรู้ เราได้ใช้ความรู้นั้นไปหาเงินมานานแล้ว แต่ไม่เคยได้ตอบแทนครูเหล่านั้นเลย คิดว่า อยากใช้เวปนี้ เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ในคำว่า "ละคร" เพราะจะว่าไปแล้ว ครูเหล่านั้น มิเคยคิดที่จะหวงวิชา เพียงแต่ไม่มีใครกล้าถาม หรือไม่มีโอกาสถาม ผมขอเป็นสื่อกลาง ใครอยากรู้เรื่อเกี่ยวกับการแสดง การเขียนบท การกำกับการแสดง และอื่นๆอีกมากมาย ถามมาได้ ผมจะหาโอกาสให้ครูทั้งหลายของผมได้ตอบคำถามเหล่านั้น ผมบอกครูหลายๆคนว่า (อาจแรงไปหน่อย) "อีกหน่อยถ้าครูไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว แต่คำสอนครู จะอยู่ในโลกนี้ (ในเวปของผม) ตลอดไป"

ใครอยากรู้เรื่องละคร เชิญทางนี้

ผมชื่อ ชาญวุฒิ พรหมสาขา ณ สกลนคร หรือ แก้ว จบการละครจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2527 เคยเล่นละคร เคยทำละคร เคยกำกับการแสดงมาหลาหลายรายการ ปัจจุบันเปิดบริษัทรับผลิตรายการโทรทัศน์ มีพี่น้องเพื่อนฝูงในวงการหลากหลาย อยากทำเวปสักเวปเพื่อการละคร โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทน เพราะเราคิดเสมอว่า เราได้นำวิชาความรู้ที่ครูสั่งสอนมา เช่น ครูใหญ่ อ.จ.สดใส พันธุมโกมล ครูช่าง อ.ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ครูแอ๋ว อ.อรชุมา ยุทธวงศ์ พี่อี๊ด สุประวัติ ปัทมสูต อารอง เค้ามูลคดี และอีกหลากหลายผู้มีความรู้ เราได้ใช้ความรู้นั้นไปหาเงินมานานแล้ว แต่ไม่เคยได้ตอบแทนครูเหล่านั้นเลย คิดว่า อยากใช้เวปนี้ เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ในคำว่า "ละคร" เพราะจะว่าไปแล้ว ครูเหล่านั้น มิเคยคิดที่จะหวงวิชา เพียงแต่ไม่มีใครกล้าถาม หรือไม่มีโอกาสถาม ผมขอเป็นสื่อกลางใครอยากรู้เรื่อเกี่ยวกับการแสดง การเขียนบท การกำกับการแสดง และอื่นๆอีกมากมาย ถามมาได้ ผมจะหาโอกาสให้ครูทั้งหลายของผมได้ตอบคำถามเหล่านั้น ผมบอกครูหลายๆคนว่า (อาจแรงไปหน่อย) อีกหน่อยถ้าครูไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว แต่คำสอนครู จะอยู่ในโลกนี้ (ในเวปของผม) ตลอดไป