A PART OF MY LIFE

A PART OF MY LIFE
เป็นเวปในฝัน ที่ทำเพื่อ "บูชาครูการละคร" ทั้งหลายที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาศิลปการละครให้แก่ข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าได้นำความรู้เหล่านั้นมาหากินเลี้ยงชีพมาตราบจนทุกวันนี้ เช่น ครูใหญ่ อ.สดใส พันธุมโกมล,ครูช่าง อ.ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง,ครูแอ๋ว อ.อรชุมา ยุทธวงศ์,ครูอุ๋ย อ.พรรัตน์ ดำรุง,พี่อี๊ด สุประวัติ ปัทมสูต,อารอง เค้ามูลคดี,อาโต รัชฟิล์ม และอีกหลายๆท่าน โดยนำคำสอนของบรรดาครูทั้งหลาย และเหล่าพี่น้องภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่รัก "ละครเวที" ครับ

วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2551

หลักสำคัญของ Farce






หลักสำคัญของ Farce


หลักสำคัญอีกประการหนึ่งในการสร้างสรรค์ละครประเภท Farce ก็คือ ผู้ชมจะหัวเราะ ตราบใดที่เชื่อในบทบาท และความจริงใจของตัวละคร ซึ่งกระทำในสิ่งผิดพลาดหรือโง่เขลาอย่างน่าขบขัน แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ตัวละครทำก็จะต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทรมานที่จริงจังจนเกินไป ฉะนั้น ลีลาในการแสดงจึงเป็นความสำคัญยิ่งต่อละครประเภทนี้ อาทิเช่น การหกล้มหรือตกบันไดของตัวละครจะต้องดูเหมือนไม่แกล้งทำ ต้องให้คนดูเชื่อได้ว่าตัวละครหกล้ม หรือตกบันไดจริงๆ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าแสดงอย่างจริงจังเกินไป เช่น ให้คนดูเห็นตัวละครหัวฟาดลงกับพื้น และฟุบแน่นิ่งไป คนดูจะหยุดหัวเราะทันที เพราะเกิดห่วงใยสวัสดิภาพของตัวละคร หรือของนักแสดงแทน เพราะคนดูจะใช้ อารมณ์ แทนความคิด และจะเกิดความสงสารขึ้นอย่างจริงจัง และละครเรื่องนั้นก็จะขาดลักษณะของละครที่ทำให้เกิดความรู้สึกขบขันไปในทันที

ละครประเภท Farce

Charlie Chaplin
นักแสดงภาพยนต์ใบ้ประเภท Farce ที่มีความดีเด่นอย่างหาตัวจับได้ยาก
ในแง่ของศิลปะการแสดง


ละครประเภท Farce
ละครประเภท Farce มักจะเรียกเสียงหัวเราะจากการพลิกความคาดหมายของผู้ชมด้วยสถานการณ์ที่เหลือเชื่อ และเกือบจะเป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ในโลกของ Farce คนดูจะยอมรับว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ ตราบใดที่นักแสดงให้ความจริงใจกับบทบาทอย่างไม่มีการเสแสร้งแกล้งทำ และลีลาของการแสดงว่องไวรวดเร็วจนคนดูไม่มีเวลาคิดเรื่องเหตุผล เพราะมัวแต่หัวเราะกับเรื่องราวที่สับสน ท่าทางและการกระทำของตัวละคร ตลอดจนมุขตลกต่างๆที่เกิดขึ้นจากความสามารถและปฏิภาณของนักแสดง

ฟาร์ส (FARCE)


ละครประเภทตลกขบขัน หรือที่เรียกว่า ฟาร์ส (FARCE)

FARCE ถือเป็นละครตลกที่เก่าแก่ที่สุด เกิดขึ้นก่อนที่จะมีภาษาที่ไพเราะหรือวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการละครหลายท่านมีความเห็นว่า Farce ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของละครตลกทั่วไปนั้น คงจะเกิดขึ้นจาก ธรรมชาติของมนุษย์ที่รู้จักหัวเราะให้กับข้อบกพร่อง และความผิดพลาดของตนเอง และผู้อื่น ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์ ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ลำบากยากเข็ญ หรือไม่สบอารมณ์ตัวเองได้ ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็ได้รับความสุขและการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการหัวเราะ
ฉะนั้น มนุษย์จึงนิยมที่จะหาวิธีกระตุ้นให้เกิดอาการหัวเราะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจขึ้น การแสดงกิริยาอาการที่ทำให้เกิดความขบขัน จึงเป็นที่มาของละครตลกขั้นพื้นฐานคือ Farce นี้ เชื่อกันว่าการแสดงตลกดังกล่าวคงจะมีมาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มจะมีความเป็นอยู่ที่ดีพอ ไม่ต้องพะวงกับการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชีวิตจนเกินไป มีเวลาให้กับการพักผ่อนหย่อนใจ และการแสวงหาความสุขสนุกสนานพอสมควร มนุษย์ก็เริ่มนำการแสดงที่ชวนให้ขบขันเข้ามาแทรกในการแสดงที่เคยเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ หรือจริงจังมาแต่เดิม เช่น ในการทำพิธีที่เคยเป็นแบบเวทย์มนต์คาถาอันศักดิ์สิทธิ์ทำนอง “ตัดไม้ข่มนาม” ที่กำหนดให้มีนายพรานออกมาร่ายรำทำท่าฆ่าสัตว์ที่ชนเผ่านั้นต้องการจะจับ แทนที่จะให้ผู้แสดงเต้นรำเป็นนายพรานฟันถูกผู้แสดงเป็นสัตว์เช่นที่เคยเป็นมาในการแสดงที่เป็นพิธีการ นายพรานก็กลับฟันที่ไรพลาดทุกที จนกระทั่งบางครั้ง นายพรานซึ่งควรที่จะมีการเก่งกาจ สง่าผ่าเผย กลับเงอะงะ หกล้มหกลุกเป็นที่ตลกขบขันสรวลเสเฮฮาของบรรดาคนในเผ่าที่นั่งล้อมวงดูกันอยู่อย่างสบอารมณ์ยิ่งนัก

วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2551

ลักษณะสำคัญของละครประเภท TRAGEDY


นับตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลเป็นต้นมา ละครประเภท TRAGEDY ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมการละครที่ดีเด่นเหนือวรรณกรรมการละครประเภทอื่นๆ และถึงแม้ว่า ละคร TRAGEDYจะได้พัฒนาไปตามกาลเวลา เป็นผลให้ TRAGEDYสมัยต่างๆ มีความแตกต่างกันไปตามรสนิยม และ ค่านิยมของแต่ละสมัย ลักษณะสำคัญของ TRAGEDYทุกสมัยก็ยังมีหลายประการที่คล้ายคลึงกัน เป็นต้นว่า
· ต้องเป็นเรื่องที่แสดงถึงความทุกข์ทรมานของมนุษย์ และจบลงด้วยความหายนะของตัวเอก
· ตัวเอกของ TRAGEDYต้องมี ความยิ่งใหญ่ (tragic greatness) เหนือคนทั่วๆไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องมี ข้อบกพร่องหรือผิดพลาด (tragic flaw) ที่เป็นสาเหตุของความหายนะที่ได้รับ
· ฉากต่างๆที่แสดงถึงความทรมานของมนุษย์จะต้องมีผลทำให้เกิด ความรู้สึกสงสาร (pity) และ ความกลัว (fear) อันจะนำผู้ชมเข้าไปสู่ ความเข้าใจชีวิต (enlightenment)
· มีความเป็นเลิศในเชิงศิลปะ และ วรรณคดี
· ให้ความรู้สึกอันสูงส่งหรือความรู้สึกผ่องแผ้วในจิตใจ (exaltation) และการชำระล้างจิตใจจนบริสุทธิ์ (catharsis)

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551

พัฒนาการต่อมาของละครประเภท TRAGEDY


หลังจากที่ THESPIS ได้เริ่มพัฒนาบทเพลงสวดบูชาที่เรียกว่า DYTHYRAMB มาเป็นบทละครที่มีบทเจรจาโต้ตอบกันระหว่าง ACTOR กับกลุ่ม CHORUS ซึ่งกลายเป็นบทละครประเภท TRAGEDY แล้ว ต่อมาก็ได้มีผู้ปรับปรุงแกไขบทละครประเภทนี้ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือ AESCHYLUS ได้เพิ่มนักแสดงขึ้นเป็น 2 คน และ SOPHOCLESได้เพิ่มจำนวนนักแสดงขึ้นเป็น 3คน ซึ่งทำให้เกิดการเป็น “ประเพณีนิยม” (CONVENTION) ของละครกรีกโบราณว่า จะต้องมีกลุ่ม CHORUS และตัวละครซึ่งมีบทเจรจาโต้ตอบกันในฉากหนึ่งๆ ไม่เกิน 3 คน ทั้งนี้หมายความว่า ในละครเรื่องหนึ่งๆ อาจมีตัวละครเกินกว่า 3 ตัวได้ แต่ตัวละครเหล่านั้นจะออกมาพูดในฉากเดียวกันเกินกว่าฉากละ 3 คน ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะมีนักแสดงเพียง 3 คน นักแสดงเหล่านั้น จะแสดงเป็นตัวละครทุกตัวในเรื่อง โดยแบ่งบทกันไปตามความเหมาะสม นักแสดงคนหนึ่งอาจแสดงได้หลายบทโดยการใช้การเปลี่ยนหน้ากาก เสื้อผ้า ลีลาการแสดงของตน ฉะนั้นผู้เขียนบทละครกรีกโบราณจึงต้องเขียนบทให้มีตัวละครซึ่งมีบทเจรจาโต้ตอบกันในฉากหนึ่งๆ ไม่เกิน 3 คน เพื่อให้เหมาะสมกับประเพณีการละครดังกล่าว

TRAGEDY พัฒนามาจากเพลง DYTHYRAMB ได้อย่างไร


ก่อนที่จะเกิดมีละครประเภท TRAGEDY ขึ้น การขับร้องเพลง DYTHYRAMB เพื่อสรรเสริญเทพเจ้า DIONYSUS นั้น มิได้มีการแต่งไว้ล่วงหน้า ชาวกรีกที่มาในพิธีบวงสรวงเทพเจ้า DIONYSUS จะพากันดื่มเหล้าองุ่นซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าจนมึนเมา และมีความรู้สึกว่ามีความเป็น “เทพ” เยี่ยง DIONYSUS สามารถร้องเพลงและร่ายรำเพื่อแสดงออกถึงความชื่นชมในชีวิต ฉะนั้น จึงพากันขับร้องเพลงที่แต่งกันสดๆในขณะนั้น เพื่อสดุดีเทพเจ้า DIONYSUS ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่น พืชพันธุ์ธัญญาหาร ฤดูใบไม้ผลิ ความอุดมสมบูรณ์ และชีวิต

มีผู้สันนิษฐานว่า ในราว 600ปีก่อนคริสตกาล ได้มีผู้ริเริ่มประพันธ์คำร้องที่ใช้ในบทเพลงสวดบูชาที่เรียกว่า DYTHYRAMB ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้กลุ่ม CHORUS ขับร้องในพิธีบวงสรวงเทพเจ้า DIONYSUS แทนการร้องแบบ “กลอนสด” (IMPROVISATION) ที่เคยทำกันมาแต่เดิม


ครั้นต่อมาก็มีบุคคลสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์การละครชื่อว่า “เธสพิส” (THESPIS) เขาได้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการขับร้องเพลง DYTHYRAMB ด้วยการริเริ่มให้มี “นักแสดง” (ACTOR) คนแรกขึ้น เพื่อให้สามารถมีบทเจรจาโต้ตอบกับ CHORUS ได้ พัฒนาการไปสู่การละครจึงเกิดขึ้น กล่าวกันว่า THESPIS เองทำหน้าที่เป็นนักแสดงคนแรกนี้ อย่างไรก็ตามมีหลักฐานปรากฏว่า THESPIS ผู้นี้ได้รับรางวัลในการประกวด TRAGEDY ที่จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก ณ นครเอเธนส์ ในปี 534 ก่อนคริสตกาล

TRAGEDY

AESCHYLUS

SOPHOCLES


EURIPIDES
TRAGEDY ถือกันว่าเป็นวรรณกรรมการละครที่เก่าแก่ที่สุด และมีค่าสูงสุดในเชิงศิลปะและวรรณคดี ละครประเภท TRAGEDYถือกำเนิดขึ้นในประเทศกรีซ และพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ภายใต้การนำของ เอสคิลุส (AESCHYLUS, 525-456 B.C.) โซโฟคลีส (SOPHOCLES, 496-406 B.C.) และยูริพิดีส (EURIPIDES, 484-406 B.C.) นักเขียนบทละครประเภท TRAGEDYผู้ยิ่งใหญ่แห่งนครเอเธนส์ในสมัยศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล

ความหมายของคำว่า TRAGEDY
คำว่า TRAGEDY มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ TRAGOS ซึ่งแปลว่า แพะ และ ODE ซึ่งแปลว่า เพลง ฉะนั้นถ้าดูตามรูปศัพท์แล้ว TRAGEDY จึงแปลว่า เพลงแพะ ซึ่งความหมายดังกล่าวบ่งให้เห็นชัดถึงความสัมพันธ์ของละครประเภทนี้ กับพิธีบวงสรวงทางศาสนา กล่าวคือในสมัยที่ละครประเภท TRAGEDYถือกำเนิดขึ้นในประเทศกรีซนั้น เป็นสมัยที่ชาวกรีกนับถือเทพเจ้าไดโอไนซุส (DIONYSUS)ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่น พืชพันธุ์ธัญญาหาร ฤดูใบไม้ผลิ ความอุดมสมบูรณ์ และชีวิต
ในระยะเริ่มแรกการบวงสรวงเทพเจ้า DIONYSUS ประกอบด้วยการขับร้องเพลงสวดบูชาที่เรียกว่า “ดิธีแรมบ์” (DYTHYRAMB) ซึ่งได้มีผู้สันนิษฐานว่าในสมัยโบราณ เมื่อมีการขับร้องเพลง DYTHYRAMB คงจะมีการใช้มนุษย์บูชายัญ ต่อมาเห็นว่าเป็นการทารุณ จึงเปลี่ยนมาใช้แพะแทน และในสมัยหลัง แทนที่จะฆ่าแพะก็ให้แพะเป็นรางวัลแก่กลุ่มนักร้อง หรือ CHORUS ที่ขับร้องเพลง DYTHYRAMBได้ดีที่สุด ฉะนั้น ละครประเภทTRAGEDYซึ่งถือกำเนิดมาจากการขับร้องเพลง DYTHYRAMBจึงมีความหมายตามศัพท์กรีก ว่า “เพลงแพะ”

ประเภทของละคร

1. ละครประเภท โศกนาฏกรรม หรือที่เรียกว่า แทรจิดี้ (TRAGEDY)
2. ละครประเภทตลกขบขัน หรือที่เรียกว่า ฟาร์ส (FARCE) และ คอเมดี้ (COMEDY)
คอเมดี้ (COMEDY) ประเภทต่างๆ
2.1 สุขนาฏกรรม (ROMANTIC COMEDY)
2.2 ละครตลกชั้นสูง (HIGH COMEDY) หรือ ตลกผู้ดี (COMEDY OF MANNERS)
2.3 ละครตลกประเภทเสียดสี (SATIRIC COMEDY)
2.4 ละครตลกประเภทความคิด (COMEDY OF IDEAS)
2.5 ละครตลกประเภทสถานการณ์ (SITUATION COMEDY)
2.6 ละครตลกประเภทโครมคราม (SLAPSTICK COMEDY)
2.7 ละครตลกรักกระจุ๋มกระจิ๋ม(SENTIMENTAL COMEDY)และละครเศร้าเคล้าน้ำตา (
TEARFUL COMEDY)
3. ละครอิงนิยาย หรือที่เรียกว่า โรมานซ์ (ROMANCE)
4. ละครประเภทเริงรมย์ประเภท เมโลดรามา (MELODRAMA)
5. ละครสมัยใหม่ (MODERN DRAMA)
5.1 ละครสมัยใหม่แนว “เหมือนชีวิต” (REALISM) และ แนทเชอรัลลิสม์ (NATURALISM)
5.2 ละครสมัยใหม่แนว “ต่อต้านเรียลิสม์” (ANTI-REALISM)
5.2.1 ละครแนวสัญลักษณ์ หรือ ซิมโบลิสม์ (SYMBOLISM)
5.2.2 ละครแนว “โรแมนติก” (ROMANTIC) หรือ “โรแมนติซิสม์” (ROMANTICISM) สมัยใหม่
5.2.3 ละครแนว “เอกเปรสชั่นนิสม์ (EXPRESSIONISM)
5.2.4 ละครแนว “เอพิค” (EPIC)
5.2.5 ละครแนว “แอบเสิร์ด” (ABSURD)

วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2551

เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับ ละครเวที ตอนที่ 3

อยากเล่นละครอีกจัง” ความรู้สึกนี้วนเวียนอยู่ในสมองของข้าพเจ้าตลอดมา เพราะตอนนั้น (เด็กๆ) เห็นว่า ถ้าได้เล่นละคร หรือร่วมกิจกรรมของสวนสุนันทาแล้ว ข้าพเจ้ามีความสนุก ได้เจอเพื่อนๆพี่ๆ ไม่ต้องเข้าห้องเรียน ได้เล่นเป็นตัวละครต่างๆ ได้ความรู้จากเรื่องที่เล่น เพราะส่วนใหญ่จะเอาเรื่องในวรรณคดีมาเล่น
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ประมาณปี2515 สวนสุนันทามีงานใหญ่อีกแล้ว โดยจะทำละครกลางแจ้ง เรื่อง ธรรมมา ธรรมะ สงคราม เป็นพิธีกวนน้ำอมฤตระหว่างเทวดา กับยักษ์ โดยเอาพญานาคมาพันรอบเขาพระสุเมรุ ฉากเป็นป่าหิมพานต์ มีภูเขา มีต้นไม้ แน่นอนต้องมีสัตว์ป่า ข้าพเจ้ามิรอช้า ไปหาครูจรูญศรี ครูเห็นข้าพเจ้าปุ๊บ ครูบอกว่า “แก้ว มีบทนึงเหมาะกับเธอมาก” ข้าพเจ้าดีใจมาก ได้เล่นละครอีกแล้ว “บทอะไรครับครู” ข้าพเจ้าถาม ครูบอก “ตัวละครนี้ต้องเธอเล่น คือตัวลิงที่อยู่ในป่าหิมพานต์ เธอกับเพชรเล่นเป็นลิง” ฮ่าๆๆๆๆๆ ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้เล่นละครอีกแล้ว บทลิงก็ยังดี ต้องมีการซ้อมเดิน เกา ตีลังกา ต้องร้อง “เจี๊ยกๆ” ตอนที่ครูสอนให้เกา ข้าพเจ้าก็เกาแบบไม่รู้ ครูบอกว่า “ลิงต้องหงายมือเกาขึ้น ถ้าเกาลงเป็นอะไรรู้ไหม” “เป็นยักษ์ครับ” “ผิด เธอลองคิดดูให้ดี สัตว์อะไรที่เอามือเกาตัวเองแล้วคว่ำมือลง” “อ๋อ....หมาครับ” ครูจรูญศรียิ้มแล้วตอบข้าพเจ้าว่า “ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อเธอเล่นเป็นลิง ต้องเกาขึ้น อย่าเป็นลิงแบบหมา เข้าใจไหม” คำๆนี้ข้าพเจ้าจำได้จนปัจจุบันนี้ ลิงเกาขึ้น หมาเกาลง “ส่วนเรื่องท่าทางซุกซนของลิง ครูคงไม่ต้องสอนพวกเธอหรอกนะ” ครูพูดยิ้มๆ อะไรกันครับครู ผมว่าผมเรียบร้อยแล้วนะ ได้เข็มเด็กดีด้วย “ครูว่าลิงจริง ยังซนไม่เท่าพวกเธอ” แป่วววววววววว มีพี่อีกคนเค้าเล่นเป็นช้าง น่าสงสารเค้าเพราะข้าพเจ้าคิดว่าต้องร้อนและเมื่อยมาก เค้าต้องใส่ชุดช้าง สวมหัวช้าง แล้วที่สำคัญ เค้าต้องเดินแบบก้มๆตลอด มือสองข้างต้องจับขาช้างปลอม เค้าจะทำขาหน้าช้างปลอมให้ เพราะเวลาเดินเท้าทั้งสี่ข้างของช้างจะได้เท่ากัน ข้าพเจ้าชอบวิ่งไปกระโดดขี่หลังเล่น แล้วชอบทำหัวช้างของพี่เค้าหลุดบ่อยๆ ครูก็จะดุ แต่ข้าพเจ้ากระซิบบอกพี่เค้าว่า “พี่ครับ ผมแกล้งให้มันหลุดเอง เพราะตอนนั้น คนอื่นจะได้เห็นหน้าพี่ไง เค้าจะได้รู้ว่าพี่เล่นเป็นช้าง”

วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2551

สิ่งที่นักแสดงจะต้องจำไว้เสมอ

สิ่งที่นักแสดงจะต้องจำไว้เสมอก็คือ
อย่าพยายามสร้างความประทับใจ
อย่า “แสดง” (PERFORM) แต่จง “แสดงออก” (EXPRESS)

ทุกคนย่อมต้องการให้ผลงานของตนได้รับการยอมรับ เป็นที่นิยมชื่นชอบต่อผู้ที่ได้พบเห็น แต่ความต้องการดังกล่าวหากมีมากเสียจนกลายเป็น “เหตุผลสำคัญที่สุด” ที่อยู่เบื้องหลังผลงาน หรือมากเสียจนบดบัง “ความต้องการที่จะแสดงออก” (NEED TO EXPRESS) เพื่อให้ผู้อื่นได้ “ร่วมรู้เห็น" (SHARE) ความประทับใจ แง่คิด ความเห็น หรือความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อ “ความจริง” (TRUTH) บางประการเกี่ยวกับชีวิตและมนุษย์ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดสร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นนั้น เมื่อนั้น ความต้องการความสำเร็จดังกล่าว อาจทำให้งานที่สร้างขึ้นนั้น ขาด"ความจริงใจ"ในการแสดงออก ขาด “ความจริง” ของผู้สร้างสรรค์ และเสียคุณค่าในเชิงศิลปะไปอย่างน่าเสียดาย

การใช้ศัพท์ทางการแสดงที่ผิดพลาด

การใช้ศัพท์ทางการแสดงที่ผิดพลาด ทำให้นักแสดง “หลงทาง”
ผู้กำกับการแสดงมักนิยมนำคำว่า โอเว่อร์ (มาจากคำว่า OVER ACTING หมายถึงการแสดงที่มากเกินไปจนลายเป็นการแสดงเสแสร้งแกล้งทำ) ไปใช้แทนที่คำว่า EXAGGERATION ซึ่งหมายถึง การเพิ่ม “พลัง” หรือ “ขนาด” ของการแสดงให้มากว่า ใหญ่กว่า เกิน หรือกว้างไกลกว่าความเป็นจริงตามธรรมชาติ แต่เป็นการ “เพิ่ม” โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ความริง (TRUTH) จึงไม่ใช่การเสแสร้งแกล้งทำ หรือ จงใจแสดง ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่นำไปสู่การแสดงแบบ “เสแสร้ง” และ “จงใจ” ในละครที่ต้องใช้การแสดงประเภท EXAGGERATION อาทิ ละครตลกประเภท FARCE หรือ ละคนสมัยใหม่แนวต่อต้านสัจจนิยมบางแนว เช่น ละครประเภท ABSURD เป็นต้น

วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2551

ปัญหาของการแสดงที่มักพบ

มีหลักปฎิบัตที่มักใช้กันอย่างแพร่หลาย (COMMON PRACTICE) และได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งว่าถูกต้อง แต่แท้จริงกลับเป็นสิ่งที่ทำให้นักสดง “หลงทาง” อาจเรียกได้ว่า “สมาธิผิดที่” และนำไปสู่ปัญหาของการแสดง ได้แก่

- การเริ่มต้นที่อารมณ์ความรู้สึก โดยนักแสดงพยายาม “สร้าง” (BUILD) อารมณ์ไว้ล่วงหน้า หรือผู้กำกับสั่งให้นักแสดง “สร้าง” (BUILD) อารมณ์ มักทำให้นักแสดง “หลงทาง” และนำไปสู่ “การแสดงที่ใช้อารมณ์เกินขอบเขต” (EMOTIONALISM) จนถึงขั้นที่นักแสดงควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ (HYSTERICAL ACTING) ซึ่งเป็นการทำลาย “ศิลปะ” ของการแสดงอย่าสิ้นเชิง

- ความตั้งใจที่จะแสดงให้เห็น “ลักษณะนิสัย" (CHARACTER) ของตัวละครซึ่งนำไปสู่การแสดงอย่าง “จงใจ”แทนการแสดงอย่าง “จริงใจ

- วิธีการ (APPROCH) ที่ผิดพลาดของผู้กำกับการแสดงที่บอกให้นักแสดง “เปลี่ยน” จากตัวเองไปเป็นตัวละครในเรื่อง มักนำไปสู่ปัญหา “สูตรสำเร็จรูป” ที่ขาด “ความจริง” ทางศิลปะการละคร

- นักแสดงที่สมาธิกับ “ความพยายามแสดงให้ดี” เป็นการสมาธิผิดที่ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาของการแสดง

ความจริง (TRUTH)

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ละครเป็นงานสร้างสรรค์ที่มีศิลปะ ก็คือ ความจริง (TRUTH) และความจริงใจ (SINCERITY) ในการนำเสนอ (PRESENTATION) หรือแสดงออก (EXPRESSION) ซึ่งความจริงอันนั้น

ความจริง (TRUTH)ในละครที่ผู้กำกับการแสดงต้องหาให้พบและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนลงมือกำกับการแสดง ก็คือ สัจธรรมของผู้ประพันธ์ หรือ
ความจริงที่ละครเรื่องนั้นต้องการสื่อสารกับผู้ชม

ปัญหาที่เป็นอุปสรรคสูงสุดต่อการพัฒนาต่อการพัฒนาการของการแสดงที่เป็นศิลปะและเป็นมูลเหตุสำคัญของปัญหาอื่นๆที่ติดตามมาก็คือ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความจริง (TRUTH) ในการแสดง ได้แก่
- ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “การแสดง” ว่าเป็นการเสแสร้งปั้นแต่งกิริยาขึ้นโดยปราศจาก “ความจริง” ใดๆ

- ความเข้าใจผิดที่ทำให้เกิดความเชื่อว่า เมื่อเป็น “ละคร” แล้ว ไม่จะเป็นต้อง “จริง” หรือ “เป็นตัวละคร” แล้วต้อง “ไม่จริง” ซึ่งนำไปสู่การยอมรับการแสดงที่มีลักษณะ “เสแสร้งแกล้งทำ” ในวงกว้าง ทำให้ยากต่อการแก้ไข

- ความสับสนระหว่างความหมายของคำว่า ความจริง (TRUTH) กับ ความเป็นจริง(REALITY) ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดที่ว่า ละครที่มี ความจริง (TRUTH) จะต้องเป็นละครที่เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ความเป็นจริง(REALITY) ของชีวิตในแนว สัจจนิยม (REALISM) และธรรมชาตินิยม (NATURALISM) เท่านั้น ส่วนละครประเภทอื่นๆ หรือแนวอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งละครสมัยใหม่ที่เสนอในแนวที่เรียกโดยรวมว่า “แนวต่อต้านสัจจนิยมและธรรมชาติ (ANTI-REALISM AND NATURALISM) นั้น ไม่จำเป็นต้องมี หรือไม่ควรมี ความจริง (TRUTH)ซึ่งความเข้าใจผิดดังกล่าวนำไปสู่การเสนอละคร “จงใจ”แสดงแนวต่างๆ โดยมุ่งเน้นที่รูปแบบ (FORM) มากกว่าเนื้อหา (CONTENT) เป็นผลให้การแสดงขาดความจริงใจ (SINCERITY) และขาดศิลปะในแง่ของการละคร

- การเข้าใจผิดว่า “การแสดงเป็นธรรมชาติอย่างจอมปลอม” (FAKED NATURALISM) คือการให้ ความจริง (TRUTH) แก่บทบาทการแสดง ซึ่งนำไปสู่การแสดงที่ “จงใจ”เสนอความเป็นธรรมชาติโดยปราศจาก “ความจริงภายใน” (INNER REALISM) ทำให้ขาดศิลปะของการแสดงอย่าสิ้นเชิง

- ความเข้าใจผิดที่ว่า“การลอกเลียนธรรมชาติอย่างละเอียดลออทุกกระเบียดนิ้ว”(PHOTOGRAPHIC COPYING) กับ ความจริง(TRUTH) ในละครเป็นสิ่งเดียวกัน ทำให้ทั้งผู้กำกับการแสดง และนักแสดงมุ่งเน้นรายละเอียดปลีกย่อยจนกระทั่งบดบัง ความจริง (TRUTH) ที่ละครเรื่องนั้นต้องการเสนอ

วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2551

เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับ ละครเวที ตอนที่ 2

เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับ ละครเวที ตอนที่ 2

ดังที่ได้เกริ่นไปในตอนที่แล้ว ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกสนุกกับการแสดง (ทั้งๆที่จริงต้องเรียกว่าแอบดูคนอื่นเค้าแสดง) ข้าพเจ้ามักขอตามคุณพ่อไปทุกครั้งที่สวนสุนันทาจัดละคร มีทั้งละครเวที นาฏศิลป์ ละครพันทาง ละครกลางแจ้ง บางทีมีหนังตะลุงมาให้ดู ซึ่งข้าพเจ้าก็ฟังรู้เรื่องบ้าง เพราะเคยไปบ้านคุณแม่บ่อยๆที่นครศรีธรรมราช (คุณแม่เป็นคนทุ่งสง)

ตอนประถมต้น ประมาณพ.ศ. 2514 มีเพื่อนคุณแม่สอนวิชาขับร้อง ชื่อ อ.จ.ศิริกุล วรบุตร และแน่นอน ลูกสาวเพื่อนคุณแม่ก็เรียนห้องเดียวกับข้าพเจ้า ชื่อกุลชฎา หรือ ปอม สวยและน่ารักมาก ตาโต ผมดำยาว หน้าคม ปอมชอบถักเปีย ข้าพเจ้าชอบแอบไปดึงเปียเล่น โดนอาจารย์ศิริกุลดุบ่อยๆ ช่วยไม่ได้ อ.จ.มีลูกสาวสวยนี่ครับ อ.จ.สอนร้องเพลงสนุกมาก เสียงอ.จ.ก็ไพเราะน่าฟัง รู้สึกว่าอ.จ.จะจบมาจากนาฏศิลป์ อ.จ.สอนข้าพเจ้าทั้งร้องทั้งรำ มีเพลงพม่ารำขวาน ฟ้อนเงี้ยว เพลงวันครู ฯลฯ อีกครั้งหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้ออกโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ข้าพเจ้าเล่นเป็นนายพราน ในเพลงแม่กาเหว่า ที่ร้องว่า(ใครร้องได้ก็ลองร้องตามนะครับ ) “ยังมี หน่อยนิแนะแม่กาเหว่า ชะเอิ่งเงิ้งเงย ยังมี ยังมีแม่กาเหว่า ไข่ไว้ให้แม่กาฟัก แม่กา หน่อยนิแนะก็หลงรัก ชะเอิ่งเงิ๊งเงย แม่กา แม่กาก็หลงรัก คิดว่าลูก ในอุทร คาบข้าว หน่อยนิแนะ เอามาเผื่อ ชะเอ่งเงิ๊งเงย คาบข้าว คาบข้าวมาเผื่อ คาบเอาเหยื่อ มาป้อนฯลฯ” ข้าพเจ้าต้องแต่งตัวเป็นนายพราน ใส่ชุดม่อฮ่อมสีน้ำเงิน ผ้าขาวม้าโพกหัว แต่งหน้าด้วย แถมเขียนหนวดอีก ข้าพเจ้าก็นึกในใจ แล้วเพื่อนๆจะจำเราได้มั๊ยเนี่ยะ อุตส่าห์ได้ออกทีวีทั้งที อ.จ.ศิริกุลก็สอนท่าเต้นให้ ท่าเดิน ท่ามองนก ตืท่ารำตามคำร้อง พอตอนจะออกทีวี ตื่นเต้นมาก ที่ซ้อมมาดูเหมือนมันจะลืมๆ ไม่มั่นใจ อ.จ.บอกว่า ไม่ต้องกลัว ท่านให้ไหว้ครูบาอาจารย์ ให้ครูทั้งหลายมาช่วย ข้าพเจ้าก็ทำตาม แปลกมาก พอระลึกถึงครูแล้ว จิตของข้าพเจ้านิ่ง ความมั่นใจกลับคืนมา ตอนนั้นยังเด็กไม่คิดอะไร ลืมบอกไปว่า สมัยนั้นออกอากาศสด ไม่มีการบันทึกเทป คิดๆดูเราก็เก่งเหมือนกัน ไม่ขายหน้าครูบาอาจารย์ และคุณพ่อคุณแม่ อิอิอิอิอิ

ครูใหญ่ที่ผมรู้จัก





รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล (วานิชวัฒนา)
ใครๆก็เรียกติดปากว่า“ครูใหญ่”เป็นครูที่สอนวิชาการละครอย่างเป็นจริงเป็นจังให้กับข้าพเจ้า และเป็นผู้ที่ทำให้ข้าพเจ้าหันมาเรียนและเข้ามาในวงการละครของคณะอักษรศาสตร์ (รายละเอียดไว้จะเล่าให้ฟังคราวหลัง)




ท่านจบจากร.ร.มาแตร์เดอี รุ่นเดียวกับคุณแม่ของข้าพเจ้า (รุ่น 22) เพื่อนร่วมรุ่นท่านเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้มี ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ, หม่อมหลวงอาบจิตร ไทยวัฒนะ, ท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล, หม่อมเจ้าวุฒิเฉลิม วุฒิชัย, คุณหญิงหม่อมหลวงถวัลย์วดี เตวิทย์, คุณดวงเดือน Karukin, หม่อมราชวงค์ปรียา โสณกุล, คุณมัทนีย์ เศรษบุตร, คุณเยรีนา อับดุลราฮิม, คุณฤดี เพ็ชรชาติ, พ.ต.อ.ท่านผู้หญิงวงศ์พรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, แพทย์หญิงเสาวนีย์ จำเดิมเผด็จศึก, หม่อมราชวงศ์ทิพพาวดี ดุละลัมภะ (มีแต่คนใหญ่คนโต)และ นางชูจิตต์ พรหมสาขา ณ สกลนคร คุณแม่ของข้าพเจ้า (บรรดาศิษย์มาแตร์เพื่อนคุณแม่จะมีการพบปะกันบ่อยๆ ข้าพเจ้ามักขับรถไปส่ง เลยได้พบหน้าค่าตาบ้าง)

เมื่อจบจากร.ร.มาแตร์เดอี ท่านก็มาเรียนต่อจนจบจบอักษรศาสตร์บัณฑิต แล้วไปเรียนต่ออีกในสาขาวิชาที่ในขณะนั้นยังแทบไม่มีใครรู้จักกันในเมืองไทยเลย คือTHEATRE ART ที่ UNIVERSITY OF NORTH CAROLINA ที่ CHAPEL HILL และ UCLA

ท่านเคยอัด Album แผ่นเสียงเพลงไทย ใส่เนื้อร้องสากลในชื่อ THE BUFFALO SONG (เพลงเดิมคือ เจ้าทุยอยู่ไหน) กับบริษัทแผ่นเสียงชื่อดังของสหรัฐฯ ดังเพลงที่ข้าพเจ้า UPLOAD ไว้ข้างบน และเคยเป็นดารา HOLLYWOOD ในสังกัดของบริษัทภาพยนตร์ TWENTIETH CENTURY FOX ก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางกลับมาเมืองไทย มาเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ท่านเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปะการละครขึ้นในคณะอักษรศาสตร์ นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนสาขาวิชาการด้านนี้ และถ้าจำไม่ผิด ท่านยังแต่งเพลงให้จุฬาฯหลายเพลง ที่ข้าพเจ้าจำได้ มีเพลง C.U. POLKA เพลงนึงล่ะ และเมื่อพ.ศ. 2496 ท่านยังประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษถวายในเพลง CANDLELIGHT BLUES ด้วย และท่านยังตั้งรางวัลสำหรับผู้ที่มีใจรักการละครชื่อ “สดใสอวอร์ด” ใครรู้มากกว่านี้ ช่วยเพิ่มเติมให้ด้วยครับ


วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551

เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับ ละครเวที ตอนที่1

เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับ ละครเวที ตอนที่1

อาจกล่าวได้ว่า การแสดงได้ผสมผสานอยู่ในสายเลือดของข้าพเจ้ามาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่คุณพ่อและคุณแม่ข้าพเจ้าเป็นครู คุณพ่อชื่อ อ.วัฒนา สอนวิชาปรัชญา คุณแม่ชื่อ อ.ชูจิตต์ สอนภาษาอังกฤษ และทั้งสองท่านมักสนับสนุนให้ข้าพเจ้าได้แสดงออกตั้งแต่ยังเล็กๆ เช่น ให้ไปออกรายการทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม (สมัยนั้น ปัจจุบันคือ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.) เวลาที่สวนสุนันทามีงานของวิทยาลัย (ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา) คุณแม่มักให้ข้าพเจ้าและน้องๆ (เสนาเพชร และหยก)ได้มีส่วนร่วมในการแสดงแทบทุกครั้งที่มีโอกาส ในสมัยนั้น ข้าพเจ้าเรียนที่ประถมสาธิตของสวนสุนันทา อาศัยอยู่ที่บ้านพักครูในสวนสุนันทา บรรดาครูทั้งหลายก็เป็นรุ่นพี่ รุ่นน้องหรือเพื่อนของคุณพ่อและคุณแม่ของข้าพเจ้า เท่านั้นยังไม่พอ ลูกๆของครูเหล่านั้นก็เป็นพี่ เป็นเพื่อน เป็นน้องของพวกข้าพเจ้าด้วย ทุกคนจะรู้จักกันหมด ด้วเหตุนี้ข้าพเจ้าเลยไม่กล้าทำอะไรผิดระเบีบย และที่สำคัญ ต้องเรียนให้เก่ง เพราะข่าวจะแพร่กระจายไปเร็วมากถ้าใครทำดี หรือทำไม่ดี ด้วยอานิสงส์นี้ ทำให้ข้าพเจ้าเรียนเก่งไปโดยปริยาย เพราะไม่อยากให้บรรดาครูๆที่สอน ซึ้งล้วนรู้จักดีกับครอบครัวข้าพเจ้ามาฟ้องคุณพ่อคุณแม่ และอย่างน้อยเรื่องการเรียนดีของข้าพเจ้า คุณพ่อคุณแม่ได้ภาคภูมิที่จะเอาไปเล่า “อวด” ชาวบ้านเขาได้บ้าง ใครที่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นครูจะรู้ซึ้งดี

ในสมัยนั้น มหรสพจะหาดูได้ค่อนข้างยาก นอกจากงานใหญ่ๆจริงๆ โชคดีที่ท่านผ.อ.สมัยนั้น คุณหญิงกรองแก้ว ปทุมมานนท์ ข้าพเจ้าเรียกท่านว่า คุณย่า (ชื่อเล่นของข้าพเจ้า คุณย่าท่านเป็นคนตั้งให้ โดยเอาชื่อหลังของท่านมาตั้ง) ท่านเคยเขียนนิทานเด็กเป็นเล่มๆ ใช้ชื่อว่า "กรองแก้ว" ท่านสนับสนุนให้นักศึกษาได้มีการแสดงออกในทุกๆด้าน โดยเฉพาะการแสดง มีงานแสดงที่หอประชุมสุนันทานุสรณ์บ่อยมาก คุณพ่อของข้าพเจ้ารับผิดชอบด้านนี้อยู่ ข้าพเจ้ามักติดตามท่านไปดูการแสดงบ่อยๆ จำได้ว่ามีละครเวทีเรื่องนึง ป็นตอนที่มีฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ข้าพเจ้าตามท่านไปอยู่ที่หลังเวที ด้วยความเป็นเด็ก (ประมาณ5ถึง6ขวบ) รู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก ข้าพเจ้าเห็นเค้าเอาสังกะสีมาวางหลังฉาก มีลูกโบว์ลิ่งด้วย ก็คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของฉาก ที่ไหนได้ พอถึงฉากฝนตก พี่คนนึงเอาเม็ดข้าวโพด เม็ดถั่วเขียว มาเทใส่ สังกะสี ข้าพเจ้าเลยอ๋อ...เสียงฝนตก อาอ๋อย อ.พิมล สายจันทร์ดี แกเป็นช่างภาพของสวนสุนันทาก็มีหน้าที่กด FLASH อ๋อ....ฟ้าแลบ คุณพ่อผมมีหน้าที่ช่วยเขย่าสังกะสี (อีกอัน) อ๋อ เสียงฟ้าผ่า รุ่นพี่อีกคนเอาลูกโบว์ลิ่งมากลิ้งบนพื้นเวทีที่เป็นไม้ อ๋อ...เสียงฟ้าร้อง ในตอนนั้นข้าพเจ้าเห็นว่ามันน่าสนุกดี ยืนดูหลังเวทีสนุกกว่าหน้าเวทีอีก วิ่งกันวุ่นวาย ของก็เกะกะ เดี๋ยวคนนั้นวิ่งเข้า คนนี้วิ่งออก นั่นนับเป็นครั้งแรกๆที่ข้าพเจ้ารู้จักคำว่า ที

ความแตกต่าง





ครูใหญ่ (อาจารย์สดใส พันธุมโกมล) ครูผมครับ




ประสบการณ์ที่คนดูได้รับจากการดูละครที่มีลักษณะ แตกต่าง จากการอ่านนวนิยาย หรือการชื่นชมผลงานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ฯลฯ อีกประการหนึ่งก็คือ การมี “อารมณ์ร่วม” กับผู้อื่นในขณะที่ชมละคร ทั้งนี้ เมื่อเราดูละคร เราจะนั่งดูพร้อมๆกับคนอื่นๆอีกหลายคน คือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “ผู้ชม” ในการแสดงละครวันนั้น ข้อนี่เป็นลักษณะสำคัญของศิลปะการละครที่ควรคำนึงถึง เพราะ การแสดงออกของมนุษย์เมื่ออยู่ตามลำพัง กับเมื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่มย่อมแตกต่างกัน ตัวอย่าเช่น เมื่อดูละครตลก เราจะหัวเราะไม่ค่อยออกเมื่อนั่งอยู่คนเดียว แต่ความสนุกสนานตลกขบขันของละครจะเพิ่มมากขึ้นถ้ามีผู้อื่นหัวเราะไปกับเรา ในทำนองเดียวกัน เมื่อดูละครเศร้า เราจะรู่สีกซาบซึ้งมาก ถ้ามีความรู้สึกว่าทุกคนในโรงละครเงียบกริบและกำลังมีความรู้สึกเช่นเดียวกับเรา และเมื่อใดทีเราไปดูละครแต่ไม่มี “อารมณ์ร่วม” กับคนดูอื่นๆ เช่นในขณะที่เรากำลังซาบซึ้งกับบทบาทของตัวละคร ผู้ดูอื่นหัวเราะหรือคุยกันส่งเสียงอื้ออึง เราจะรู้สึกเสียอารมณ์ไปมาก และละครเรื่องนั้นก็ไม่สามารถสื่อความหมายให้แก่เราได้เท่าที่ควร
ที่มา ศิลปะการละครเบื้องต้น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

ศิลปะการละครคืออะไร


ศิลปะการละคร คือ ศิลปะที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ และจินตนาการของมนุษย์ มาผูกเป็นเรื่องและจัดเสนอในรูปแบบของการแสดง โดยมี "นักแสดง" เป็นผู้สื่อ "ความหมายและเรื่องราว" ต่อ "ผู้ชม"

ศิลปะการละคร เป็น "ศิลปะร่วม" ที่รวมศิลปะหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน นับตั้งแต่ศิลปะของการประพันธ์ การแสดง การกำกับการแสดง การออกแบบสร้างฉาก การออกแบบเครื่องแต่งกาย การออกแบบและจัดแสง ตลอดจนศิลปะด้านอื่นๆอีกมาก ซึ่งอาจรวมถึงศิลปะของดนตรี การร่ายรำ หรือการเต้นรำ ฯลฯ ตามแต่ลักษณะและแนวทางการนำเสนอของละครนั้นๆ

ความดีเด่นของศิลปะกาละคร จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการนำศิลปะต่างๆเหล่านี้มารวมกันอย่างได้ผล ทำให้เกิดความประทับใจจาก "ผลรวม" ของละคร ซึ่งนอกจากจะให้ความงดงามและคุณค่าในเชิงศิลปะวรรณกรรมแล้ว ยังให้ "ประสบการณ์ที่มีความหมายต่อชีวิต" ในทางหนึ่งทางใด หรือหลายทาง แก่ "ผู้ชม" อีกด้วย

สดใส พันธุมโกมล