A PART OF MY LIFE

A PART OF MY LIFE
เป็นเวปในฝัน ที่ทำเพื่อ "บูชาครูการละคร" ทั้งหลายที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาศิลปการละครให้แก่ข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าได้นำความรู้เหล่านั้นมาหากินเลี้ยงชีพมาตราบจนทุกวันนี้ เช่น ครูใหญ่ อ.สดใส พันธุมโกมล,ครูช่าง อ.ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง,ครูแอ๋ว อ.อรชุมา ยุทธวงศ์,ครูอุ๋ย อ.พรรัตน์ ดำรุง,พี่อี๊ด สุประวัติ ปัทมสูต,อารอง เค้ามูลคดี,อาโต รัชฟิล์ม และอีกหลายๆท่าน โดยนำคำสอนของบรรดาครูทั้งหลาย และเหล่าพี่น้องภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่รัก "ละครเวที" ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

การเขียนบทแบบง่ายๆ ตอนที่ ๑

การเขียนบทแบบง่ายๆ ตอนที่ ๑
จากการที่ผมได้ติดตามครูช่างไปสอน และได้ดูครูสอนนักศึกษาแล้ว
มีวิชาหนึ่งซึ่งครูบอกว่า ครูได้ประมวลความรู้ด้านละคร แล้วนำมาประยุกต์ให้เข้าใจง่ายๆ
ครูเรียกว่า ทฤษฎีการเขียนบทแนวใหม่ ครูบอกว่างั้น
ครูบอกว่า ครูได้ไปพูดให้ฝรั่งฟังที่เมืองนอก ฝรั่งยังอึ้งกิมกี่ เพราะเป็นแนวคิดใหม่
ผมเลยเห็นว่าดี มีประโยชน์ เลยเอามาเขียนให้ผู้อ่านที่รักละครได้อ่านกัน
อาจมีผิดพลาดไป หรือมีการแต่งเติมบ้าง แต่จะพยายามรักษาความเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด มากเท่าที่สมองอันน้อยนิดของผมจะบันทึกไว้ได้
ครูเริ่มต้นที่ว่า “ไม่มีเรื่องที่เล่าไม่ได้ นอกจากนักแสดงที่เล่าไม่เป็น”
ผู้อ่านหลายท่านคงสงสัยว่า อ้าว....แล้วมันเกี่ยวกับการเขียนบทอย่างไร(วะ) ใจเย็นๆครับ ผมจะค่อยๆเล่าให้ฟัง
ครูถามว่า เรื่องราวที่คนดูชอบที่สุด คือเรื่องแนวไหน
ท่านผู้อ่านลองตอบในใจดูนะครับ แนวรัก แนวบู๊ แนวผจญภัย แนวสืบสวน แนวน้ำเน่า ฯลฯ
ได้คำตอบแล้วใช่ไหมครับ
ครูบอกว่า เรื่องที่คนชอบที่สุดคือ “เรื่องเหี้ยๆของคนอื่น”
ขอโทษที่ใช้คำไม่สุภาพ ครูบอกอย่างนี้จริงๆ
ผมก็ถามว่า มันเป็นยังไง ทำไมคนถึงชอบ และมันเป็นที่นิยม
ครูยกตัวอย่างละครที่มีชื่อเสียง เช่น อิดิปุส ที่คนยกย่องว่าดีนักดีหนา มันเป็นเรื่องเห้ๆ ของลูก ที่จะเอาแม่มาทำเมีย

ครูถามว่า เหตุการณ์นี้ ดีไหม ถูกต้องตามศีลธรรมไหม แต่ทำไมถึงยกย่องว่าเป็นเรื่องดี คนเอามาเล่นกันมากมาย
ละครไทยหลายเรื่อง ก็ไม่พ้นเรื่องตบตีแย่งผัวกัน อย่างนี้คนชอบดู มันจรรโลงศีลธรรมกับต่อมสมองคนดูที่ต่อมไหน เราก็เฝ้าดู เฝ้ารอ ดูว่าเมื่อไหร่พระเอกและนางเอกจะได้สมสู่กันตอนจบเสียที
หรือเรื่องที่ลูกติดยางอมแงมจนตาย เพราะแม่มัวแต่อยู่กับผัวใหม่ จนลืมสนใจลูก
ละครตามช่องส่วนใหญ่ก็น่าละอายใจแทนผู้หญิง วันๆหล่อนไม่ทำอะไร เฝ้าแต่คอยห่วงว่า ผู้ชายที่ตัวเองชอบ จะไปชอบนางเอกหรือเปล่า แว๊ดๆๆๆๆ ไปวันๆ งานการไม่ยอมทำ พอไม่ได้ดังใจก็หาเรื่องตบตีนางเอกทำอย่างกับว่า ทั้งโลกนี้มี........แค่อันเดียวที่ฉันจะใช้ และฉันต้องได้ใช้มันคนเดียว
ครูบอกว่า เรื่องพวกนี้ มันมาจากพื้นฐานหรือแนวคิดของผู้เขียน แนวคิดที่มีเรื่องเลวๆ(ขอใช้คำเบาลงหน่อย) ที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ด้วยตนเอง หรือเป็น หรือกระทำมาแล้ว และมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราว ห่อหุ้มด้วยคำสละสลวย หรือแต่งแต้มสีสันเข้าไป เพื่ออะไร ก็เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกละอายใจ หรือเสียใจ หรืออยากขอโทษกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่อยู่ในเรื่องราวนั้นๆ
เพราะครูบอกว่า เรื่องที่ดี คือ “เรื่องที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้”
เอาล่ะสิครับ ผมเชื่อว่า ผู้อ่านหลายท่าน ต้องมีเรื่องที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้ อย่างน้อยต้องมีกันคนละเรื่องสองเรื่อง บางคนมีเรื่องมากมายที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้ ผมว่าคนนั้นมี “เรื่องราว” ที่จะเขียน หรือมีแววว่าจะเป็นผู้เขียนบทละครที่ดีได้ในอนาคต
แล้ว “เรื่องที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้” นั้น จะนำมาสู่ การเขียนบทละครง่ายๆอย่างไร
ผมเชื่อว่า หลายท่านคงนึกออกเลาๆแล้วใช่ไหมครับ
เรามามองด้านการละคร
เมื่อมีเรื่องราวแล้ว มีนักแสดง(คือตัวเรา) แล้ว ก็ต้องมีคนดู
“เรื่องที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้” จะใช้ใครแสดง ไม่ต้องไปหาอื่นไกล ก็เอาตัวเรานั่นแหละ

ส่วนคนดูนั้น จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก "คนที่เราอยากเล่าให้ฟังที่สุด เพียงคนเดียว"
เพราะอะไรหรือครับ เพราะพอเรามี “เรื่องที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้”แล้ว
ครูถามว่า จริงๆแล้ว เราอยากเล่าให้ใครฟังไหม
ผมตอบว่า ถ้าผมมี แล้วไม่ได้เล่าให้ใครฟัง มันจะไม่สบายใจ หรือมันอาจกลายเป็นตราบาปที่ไม่ได้รับการสารภาพ มันจะถูกแอบซ่อนอยู่ภายใน เหมือนหนอนที่คอยกัดกร่อนจิตใจทุกครั้งที่เรานึกถึง มันจะอึดอัดใจ
อยากเล่า อยากระบาย แต่ไม่รู้จะพูดหรือเล่าให้ใครฟัง
ครูถามว่าทำไม
ผมตอบว่า กลัวคนที่เราเล่าให้ฟัง แล้วมันจะเอาเรื่องไปบอกคนอื่นต่อ ถ้าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เราคงติดคุก หรือโดนสังคมลงโทษ
ครูถามว่า นอกจากความรู้สึกนั้นแล้ว มีความรู้สึกอย่าอื่นอีกไหม
ผมบอกว่า มีความรู้สึกสำนึกผิด ละอายที่ได้ทำไป อยากย้อนเวลาไปใหม่ อยากขอโทษกับคนที่เรากระทำผิดนั้น หรือไม่อยากทำเหตุการณ์นั้นๆซ้ำอีก
ครูถามว่า ที่เรามี “เรื่องที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้” แล้วไม่ได้เล่า เพราะเรา “กลัว” ผลที่จะตามมาใช่ไหม
ผมบอกว่า ใช่ ตอนที่ทำไม่ได้คิด แต่พอทำไปแล้ว มันสำนึกได้
ครูถามว่า แล้วเรา “กลัว” ใครจะรู้เรื่องที่สุด
ผมตอบว่า ก็กลัวคนที่เราไม่อยากให้เค้าเสียใจเมื่อรู้เรื่องนี้ เช่น คนที่เราทำไม่ดีด้วย หรือพ่อแม่ของเราจะรับไม่ได้
ครูบอกว่า พอแค่นี้ก่อน มันหมดหน้ากระดาษแล้ว ให้คนอ่านเค้าอึดอัดใจไปก่อน ให้เค้าอยากรู้มากๆว่า สิ่งที่ครูจะพูดนั้น มันสำคัญกับการเขียนบทละครอย่างง่ายๆอย่างไร

ใครอยากรู้ โปรดติดตามตอนต่อไป
ที่นี่
เร็วๆนี้
แก้ว ชาญวุฒิ
ผู้เล่า
ไม่ใช่ผู้เขียน หรือผู้แต่งเรื่อง


วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

ความสำคัญของ WORK SHOP

WORK SHOP คืออะไร มีความสำคัญแค่ไหนกับการเป็นนักแสดง
WORK SHOP เปรียบเสมือนวิธีการฝึกฝนวิธีการแสดงของนักแสดง เพื่อได้มาซึ่งการแสดงที่เป็นธรรมชาติ สมจริง เป็นการฝึกทั้งด้านร่างกาย และ จิตใจให้พร้อมในทุกบทบาท ฝึกการเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกายอย่างมีสมาธิ เช่น ฝึกให้รู้จักเครื่องมือในการแสดงของนักแสดงทุกชิ้น เช่น หัวแม่เท้าข้างซ้าย นิ้วก้อยมือข้างขวา ท่อนแขนด้านขวาท่อนบน เป็นต้น หรือฝึกอารมณ์หรือความรู้สึกที่เคยเป็น (MEMORY RECALL) ต่างๆที่ต้องใช้ในการแสดง เพื่อจะได้เรียกมาใช้ได้อย่างอัตโนมัติ
ที่จริงแล้ว นักแสดงละคร ก็เปรียบเสมือนนักกีฬา คือต้องมีการหมั่นฝึกซ้อม ซ้อมแล้วซ้อมเล่า
ในสมัยที่ข้าพเจ้าเรียนละครใหม่ๆ ก็เคยเกิดข้อกังขาในใจว่าทำไมครูต้องให้ฝึกทำนั่นทำนี่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วยังบอกว่าตรงนั้นดี ตรงนี้ไม่ดี ให้ทำใหม่
เช่น การฝึกเรื่อง ความไว้วางใจ เราจะจับกลุ่มกัน ๓ คน ให้คนหนึ่งยืนตรงกลาง หันหน้าหาเพื่อนคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องยืนตัวตรง ให้เพื่อนที่อยู่ทั้งสองข้าง ผลักเราให้เอนไปเอนมา โดยที่เราต้องรู้สึกสบายใจ ไม่เกร็ง ไม่มีความกลัวว่าจะเจ็บ เพราะเราต้องเชื่อใจว่า เพื่อนของเราทั้งสองคนจะสามารถดูแลเราไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้
ผมก็ฝึกมาตั้งแต่แรกๆ โดยที่ตอนนั้น ครูไม่ได้บอกว่า เราทำแบบนี้ทำไม เราก็เล่นสิ ผมเป็นคนผลัก ก็เลยแกล้งผลักเพื่อน แรงบ้าง เบาบ้าง แกล้งไม่รับเพื่อน ให้เพื่อนล้มบ้าง พวกเราก็สนุกสนานเฮฮากัน ทำได้ไม่นาน ครูก็ให้เปลี่ยน ให้คนที่ผลัก ๑ คน มายืนแทนเพื่อนที่ถูกผลัก
เอาล่ะสิ ตอนนี้นึกขึ้นได้ว่า เมื่อกี๊เราเพิ่งแกล้งเพื่อนไป ตอนนี้ตาเราบ้างแล้ว ที่สำคัญ เพื่อนเรามันจะเอาคืนไหม ความไม่มั่นใจเริ่มครอบงำตัวผม กลัวไปสารพัด ไม่รู้ว่าเพื่อนจะแกล้งเมื่อไหร่ ในการที่เรายืนตรงกลาง ก็เลยยืนแบบไม่มั่นใจ กลัวเจ็บ ตอนนั้นก็ไม่ได้ขอโทษเพื่อนด้วย แต่ในที่สุด การฝึกก็ผ่านไปด้วยดี เพราะเพื่อนผมพยายามไม่ให้ผมเจ็บ เค้าพยายามบอกว่า ไม่ต้องกลัว เราไม่แกล้งเธอหรอก ไว้ใจเราสิ ผมก็ใจชื้นมาหน่อยนึง ตอนนั้นรู้สึกละอายใจตัวเองมากที่เราแกล้งเพื่อน แต่เพื่อนไม่ได้แกล้งเรา อีกประการหนึ่ง ผมก็มาคิดว่า ในกลุ่ม มีแต่เพื่อนผู้หญิง ตอนที่เราเป็นคนผลัก มันต้องมีการถูกเนื้อต้องตัวกัน แล้วเพื่อนก็ยืนหันหน้ามาหาเรา เอาล่ะสิ เราจะผลักส่วนไหนของเพื่อนดีวะ ถ้าผมเป็นคนฉวยโอกาส แล้วเพื่อนจะว่าไหม สุดท้ายผมก็เลือกที่ผลักได้ คือที่หัวไหล่ ซึ่งเพื่อนก็ไม่ได้ว่าอะไร แสดงว่า เพื่อนผม ได้ให้ความไว้วางใจผมตั้งแต่แรก ในการที่ผมจะถูกเนื้อต้องตัวเพราะมัเป็นการแสดง แบบฝึกหัดนี้ ถ้าเพื่อนผมถือตัว หรือหวงตัว ผมก็คงฝึกไม่ได้
เวลาผ่านไป การฝึกซ้อมก็มีทุกครั้งที่เราเรียนการแสดง จนวันหนึ่ง ครูบอกว่า ที่ต้องมีการ WORK SHOP เรื่องการไว้วางใจกันนั้น เพราะเวลาที่เราเล่นละคร อาจมีบางบท บางตอนที่ต้องใช้ความไว้วางกันอย่างมาก เช่น บทบู๊ ใช้มีด หรือดาบตีรันฟันแทงกัน หากเราไม่ไว้ใจเพื่อน ไม่เชื่อว่าเพื่อนจะทำได้ กลัวว่าเพื่อนจะทำเราบาดเจ็บ เราก็จะไม่สามารถเข้าถึงบทบาทของการแสดงในฉากนั้นๆได้ เพราะเราจะมัวแต่ห่วงตัวเอง กลัวเจ็บ กลัวตาย จนถอนสมาธิออกจากตัวละคร มาเป็นตัวเราบนเวที
เด็กสมัยนี้ จะรู้สึกเบื่อว่า และคิดว่าทำไมกูต้องมานั่งซ้อมในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการแสดงวะ บางคนมาถามว่า “อ.จ.ขา หนูลงวิชาการแสดงนะคะ ไม่ได้ลงวิชาพละศึกษา ทำไมอ.จ.ต้องให้หนูวิ่ง ให้หนูวอร์มร่างกาย ให้หนูทำท่ากายบริหารทุกส่วนตั้งแต่หัวยันเท้า ทำไมอ.จ.ไม่สอนวิธีแสดงที่ถูกต้องให้พวกหนูล่ะคะ เช่น จะแสดงว่ารักยังไง โกรธยังไงเป็นต้น”
ผมก็ได้แต่หัวเราหึๆในลำคอ แต่ผมไม่ตอบ เพราะคิดว่า การที่เราบอกเด็กๆว่า ทำไมต้องทำอย่างนั้น เพื่ออย่างนี้ แล้ว เด็กจะเกิดการคาดหวัง และมุ่งสมาธิไปที่บั้นปลาย หรือผลที่เด็กจะได้โดยตรง เปรียบเสมือนกับเด็กอยากเขียนคำได้ แต่ไม่ยอมเรียนการเขียนพยัญชนะ เป็นต้น จะทำให้พื้นฐานการแสดง หละหลวม และไม่เข้าใจถึงหัวใจของการแสดงได้ ปล่อยให้กาลเวลาเป็นผู้ตัดสินใจว่า เมื่อไหร่ที่เด็กพวกนั้น จะได้รับรู้ถึงหัวใจของการฝึกการแสดง ถ้าเด็กพวกนั้น ยังฝันที่จะเป็น “นักแสดงที่ดี” ให้ได้ในอนาคต

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

การสมาธิให้ถูกที่

  • สวัสดีครับท่านผูอ่าน
  • ผมได้มีโอกาสไป "ให้ความรู้เพิ่มเติม" มิอาจใช้คำว่า "สอน" ให้แก่นักศึกษาหลายสถาบัน ได้พบได้เห็นปัญหาต่างๆมากมายในด้านการแสดง ซึ่งสามารถแก้ไขได้หากทุกคนมองเห็นคุณค่าของ วิชาการละคร
  • สิ่งแรกที่ผมมักจะถามนักศึกษารายตัวก่อนทำการให้ความรู้เพิ่มเติมคือ ทำไมถึงเลือกเรียนวิชาการละคร หรือเรียนวิชาการแสดง ผมได้ฟังคำตอบของนักศึกษาส่วนใหญ่แล้ว รู้สึกหดหู่กับระบบการศึกษาบ้านเราเต็มที ส่วนใหญ่จะตอบว่า "มันได้คะแนนง่ายดีค่ะ" หรือ "เพื่อนชวนค่ะ" หรือ "หนูไม่รู้จะลงอะไรค่ะ เพราะอย่างอื่นมันยาก" น้อยคนที่จะตอบว่า "รักการแสดงค่ะ" ซึ่งผมก็คิดว่า เออนะ ถ้าพวกเขารู้จักว่าการแสดงคืออะไร พวกเขาคงตอบเหมือนกันว่ารักการแสดง แต่นี่เพราะไม่รู้จัก เลยยังไม่รัก หรือถ้ารู้แล้ว จะมาเรียนให้เมื่อยตุ้มทำไม
  • ระบบการศึกษาของเรา สอนให้เด็กใช้ทุกวิถีทางในการที่จะเสาะแสวงหาเกรดเพื่อให้จบการศึกษา มากกว่าให้เด็กได้มีความรู้อย่างจริงๆจังๆ อ.จ.ส่วนใหญ่ก็สอนในชั่วโมงแบบงั้นๆ อยากรู้ละเอียดต้องไปเรียนพิเศษ จนบางทีก็เป็นข่าวให้เราได้อ่านกัน นักศึกษาพลีกายแลกเกรดบ้าง โกงการสอบบ้าง เพื่อขอแค่จบเท่านั้น
  • การเรียนการสอนการละครในมหาวิทยาลัยนั้น ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยต่อเนื่อง เพราะขาดบุคลากรที่จะมาสอนด้านการแสดง พวกเรา(เด็กละคร อักษร) จึงมักถูกรับเชิญไปเป็นอ.จ.พิเศษบ้าง วิทยากรรับเชิญบ้าง หรือบางที่จ้างเป็นอ.จ.ประจำไปเลย เช่น อ.นก และ อ.หน่อง สอนที่ ม.รังสิต เป็นต้น และการสอนก็สอนได้แค่ ผิวเผิน ไม่สามารถลงลึกได้ เพราะติดเรื่องเวลาเรียน และความต่อเนื่องของวิชา ถ้านักศึกษาคนไหนโชคดี มีหัวทางนี้ก็จะเข้าใจได้เร็ว
  • ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในการแสดงของนักแสดงใหม่ๆ คือปัญหาเรื่องการเข้าไม่ถึงบทบาท หรือไม่รู้จะแสดงอย่างไร เพราะพวกเขา สมาธิผิดที่ นักแสดงส่วนใหญ่จะมัวแต่ห่วงบทบาทตัวเองบ้าง กลัวลืมบทบ้าง พูดออกมาโดยไม่มีความหมายข้างในบ้าง
  • การแก้ปัญหาง่ายๆขั้นต้นก็คือ อย่ามัวแต่ห่วงตัวเอง เราต้องศึกษาบทให้รู้ถึง "ความต้องการ" ของตัวละครนั้นๆในแต่ละสถานการณ์ แล้วเอาสมาธิของเรา ไปอยู่ที่ตัวละครอื่น ที่เราต้องมีความสัมพันธ์ด้วยให้มาก พูดอย่างนี้ หลายคนคงงง แล้วมันคืออะไรวะ
  • ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในฉากนี้ ตัวละครที่เราแสดงนั้น ต้องการความรักจากผู้หญิงคนหนึ่ง เราก็ควรจะเอาสมาธิของเรา ไปอยู่ที่ผู้หญิงคนนั้น ดูและเอาใจใส่ รู้สึกรัก(เพราะอะไร) แล้วแสดงความรู้สึกนั้น "ตลอดเวลา" ไม่ใช่แสดงตอนเฉพาะที่เรามีบทพูด ฟังและชื่นชมในสิ่งที่หล่อนทำ มากกว่าจะมัวห่วงตัวเองว่า เราควรทำท่านั้นท่านี้เพื่อให้หล่อนรัก ถ้าเราเอา "สมาธิ" ของเรา ไปใส่ตัวละครที่เรามีความสัมพันธ์ด้วยมากเท่าไหร่ เราก็จะลืม "ความเป็นตัวตน" ของเรามากขึ้นเท่านั้น และเราก็จะแสดงไปอย่างธรรมชาติโดยที่ไม่ต้องถามตัวเองว่า "แล้วกูจะแสดงยังไง(วะ)"
  • แก้ว ชาญวุฒิ