A PART OF MY LIFE

A PART OF MY LIFE
เป็นเวปในฝัน ที่ทำเพื่อ "บูชาครูการละคร" ทั้งหลายที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาศิลปการละครให้แก่ข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าได้นำความรู้เหล่านั้นมาหากินเลี้ยงชีพมาตราบจนทุกวันนี้ เช่น ครูใหญ่ อ.สดใส พันธุมโกมล,ครูช่าง อ.ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง,ครูแอ๋ว อ.อรชุมา ยุทธวงศ์,ครูอุ๋ย อ.พรรัตน์ ดำรุง,พี่อี๊ด สุประวัติ ปัทมสูต,อารอง เค้ามูลคดี,อาโต รัชฟิล์ม และอีกหลายๆท่าน โดยนำคำสอนของบรรดาครูทั้งหลาย และเหล่าพี่น้องภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่รัก "ละครเวที" ครับ

วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ใช้ทฤษฎีให้เป็น "พาหะ" มิใช่ "ภาระ"

มีน้องๆหลายคนบ่นว่า เมื่อก่อนก็เล่นละครได้ กล้าเล่น กล้าแสดง พอตอนหลังได้มาเรียนทฤษฎีการแสดงกับครูหรือเรียนที่คณะแล้ว กลับไม่กล้าแสดง เพราะกลัวผิด กลัวไม่ใช่ กลัวครูว่า กลัวไปหมด คิดมาก ทำให้การแสดงออกมาแล้วเกร็ง แสดงไม่เต็มที่ รู้สึกต้อง force ตัวเองทุกครั้งที่ขึ้นเวที ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะ "สมาธิผิดที่" ดังที่กล่าวมาแล้ว
อีกประการหนึ่ง สิ่งที่นักแสดงมองข้ามไปคือ TRUTH เข้าใจว่าความจริงนั้นคือความจริงที่เกิดขึ้น หรือรู้สึกจริงๆ เช่นในบทต้องถูกน้ำร้อนลวก เลยลองเอาน้ำร้อนมาลวกมือเพื่อให้เข้าใจถึงความเจ็บปวด แต่ในด้านการละคร ความจริงที่ว่า หมยถึง "ความจริงทางศิลปะ" หมายถึง ความจริงที่เกิดขึ้นจากการแสดงที่ฝึกฝนหลักปฏิบัติ ฝึกจนหลักปฎิบัตินั้นได้ถูกกลืนจนกลายเป็น "ความจริงทางศิลปะ" นั่นเอง
การเรียนศิลปะการละครนั้น ครูบอกว่า เรียนเพื่อฝึกฝนตัวเองให้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งสำคัญคือ การฝึกฝน ไม่มีใครไปเรียนการแสดง แล้วครูที่สอนเสกเป่ากบาลเพี้ยง แล้วบอกว่า "เอาล่ะ ไอ้แก้ว นับแต่นี้ต่อไป มึงเล่นละครเป็นแล้ว"
เราจะแสดงละครได้ดีหรือไม่นั้น เราต้องหมั่นฝึกฝน หมั่นทำexerciseของการแสดง
ในทางทฤษฎี ก่อนที่เราจะทำการการแสดงในบทบาทต่างๆ และการที่เราจะสวมบทบาทเป็นใครนั้น ไม่ใช่เราอ่านบทแล้วแสดงได้เลย เราต้องศึกษาธรรมชาติของตัวละครนั้นๆก่อน ถึงจะเข้าใจอุปนิสัย และความต้องการของตัวละคร เช่น
ศึกษาสถานะภาพทางร่างกาย เช่น ตัวละครนั้นสูงหรือเตี้ย ขาวหรือดำ หน้าตาดีหรือขี้เหร่ มีความพิการของร่างกายหรือไม่
ศึกษาสถานะภาพทางจิตใจ เช่น ขี้ใจน้อย ใจกว้างหรือไม่ มองโลกในแง่ไหน กลัวอะไรบ้าง
ศึกษาสถานะภาพทางสังคม เป็นผู้นำ หรือผู้ตาม เป็นลูกคนโต คนกลาง คนสุดท้อง ลูกคนเดียว เป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง เป็นโสดหรือไม่ ตำแหน่งหน้าที่การงานอะไร การศึกษาจบด้านไหน จบที่ไหนมา
ศึกษาสถานะภาพทางฐานะ รวย จน ปานกลาง
ศึกษาสถานะภาพทางภูมิศาสตร์ เช่นเป็นคนภาคไหน พูดชัดหรือไม่
นักแสดงยังต้องศึกษาสถานะภาพในด้านอื่นๆของตัวละครอีกมากมายเพื่อทำให้นักแสดงนั้นเข้าใกล้ถึงความเป็นตัวละครตัวนั้นมากขึ้น เพราะถ้าศึกษาถึงรายละเอียดต่างๆเหล่านั้น จะทำให้นักแสดงเข้าใจถึงเหตุผลของการกระทำของตัวละครที่มีผลต่อบุคลิก อุปนิสัยใจคอ ความต้องการของตัวละครนั้นๆ
นักแสดงปัจจุบันคงคิดว่าจะบ้าตายถ้าต้องทำอย่างนั้น โดยลืมนึกถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษาตัวละครนั้นๆ เพื่อให้นักแสดงเข้าใจในสิ่งที่ตัวละครนั้นคิด และทำทุกอย่างบนเวที ตามความต้องการตัวละครตัวนั้น มิใช่ตัวละครทำตามที่นักแสดงต้องการ
คราวนี้ในทางปฏิบัติ เราจะมานั่งนึกถึงรายละเอียดทุกอย่างของตัวละครที่เราจะต้องสวมบทบาทคงไม้ได้ แต่ถ้าเรามีการเตรียมตัวฝึกฝนมาก่อน เราแทบไม่ต้องนึกถึงรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านั้นเลย เฉกเช่นการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ทุกวันนี้คงไม่มีใครมานั่งนึกว่าเวลาทานข้าว เราต้องจับช้อนอย่างไร จะตักข้าวท่าไหน เอาข้าวเข้าปากอย่างไรไม่ให้ข้าวหก จังหวะไหนต้องหุบปาก ต้องเม้มปากเพื่อไม่ให้ข้าวร่วง เพราะสิ่งเหล่านั้นได้ผ่านการฝึกฝนมาจนกลายเป็นนิสัยแล้ว
เช่นเดียวกันกับการแสดง ถ้าเราหมั่นฝึกฝนการแสดงของตัวละครนั้นๆ การแสดงของเราแทบจะเป็นธรรมชาติของตัวละครนั้นเลยทีเดียว และเราจะมีสมาธิอยู่กับ ความต้องการของตัวละคร มากกว่าคิดว่า ตัวเราควรจะทำอะไรท่าไหนดี จนกลายเป็น การเสแสร้งแกล้งทำและการเสกสรรปั้นแต่งท่าทางขึ้นมา

ไม่มีความคิดเห็น: