A PART OF MY LIFE

A PART OF MY LIFE
เป็นเวปในฝัน ที่ทำเพื่อ "บูชาครูการละคร" ทั้งหลายที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาศิลปการละครให้แก่ข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าได้นำความรู้เหล่านั้นมาหากินเลี้ยงชีพมาตราบจนทุกวันนี้ เช่น ครูใหญ่ อ.สดใส พันธุมโกมล,ครูช่าง อ.ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง,ครูแอ๋ว อ.อรชุมา ยุทธวงศ์,ครูอุ๋ย อ.พรรัตน์ ดำรุง,พี่อี๊ด สุประวัติ ปัทมสูต,อารอง เค้ามูลคดี,อาโต รัชฟิล์ม และอีกหลายๆท่าน โดยนำคำสอนของบรรดาครูทั้งหลาย และเหล่าพี่น้องภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่รัก "ละครเวที" ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

การเขียนบทแบบง่ายๆ ตอนที่ ๑

การเขียนบทแบบง่ายๆ ตอนที่ ๑
จากการที่ผมได้ติดตามครูช่างไปสอน และได้ดูครูสอนนักศึกษาแล้ว
มีวิชาหนึ่งซึ่งครูบอกว่า ครูได้ประมวลความรู้ด้านละคร แล้วนำมาประยุกต์ให้เข้าใจง่ายๆ
ครูเรียกว่า ทฤษฎีการเขียนบทแนวใหม่ ครูบอกว่างั้น
ครูบอกว่า ครูได้ไปพูดให้ฝรั่งฟังที่เมืองนอก ฝรั่งยังอึ้งกิมกี่ เพราะเป็นแนวคิดใหม่
ผมเลยเห็นว่าดี มีประโยชน์ เลยเอามาเขียนให้ผู้อ่านที่รักละครได้อ่านกัน
อาจมีผิดพลาดไป หรือมีการแต่งเติมบ้าง แต่จะพยายามรักษาความเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด มากเท่าที่สมองอันน้อยนิดของผมจะบันทึกไว้ได้
ครูเริ่มต้นที่ว่า “ไม่มีเรื่องที่เล่าไม่ได้ นอกจากนักแสดงที่เล่าไม่เป็น”
ผู้อ่านหลายท่านคงสงสัยว่า อ้าว....แล้วมันเกี่ยวกับการเขียนบทอย่างไร(วะ) ใจเย็นๆครับ ผมจะค่อยๆเล่าให้ฟัง
ครูถามว่า เรื่องราวที่คนดูชอบที่สุด คือเรื่องแนวไหน
ท่านผู้อ่านลองตอบในใจดูนะครับ แนวรัก แนวบู๊ แนวผจญภัย แนวสืบสวน แนวน้ำเน่า ฯลฯ
ได้คำตอบแล้วใช่ไหมครับ
ครูบอกว่า เรื่องที่คนชอบที่สุดคือ “เรื่องเหี้ยๆของคนอื่น”
ขอโทษที่ใช้คำไม่สุภาพ ครูบอกอย่างนี้จริงๆ
ผมก็ถามว่า มันเป็นยังไง ทำไมคนถึงชอบ และมันเป็นที่นิยม
ครูยกตัวอย่างละครที่มีชื่อเสียง เช่น อิดิปุส ที่คนยกย่องว่าดีนักดีหนา มันเป็นเรื่องเห้ๆ ของลูก ที่จะเอาแม่มาทำเมีย

ครูถามว่า เหตุการณ์นี้ ดีไหม ถูกต้องตามศีลธรรมไหม แต่ทำไมถึงยกย่องว่าเป็นเรื่องดี คนเอามาเล่นกันมากมาย
ละครไทยหลายเรื่อง ก็ไม่พ้นเรื่องตบตีแย่งผัวกัน อย่างนี้คนชอบดู มันจรรโลงศีลธรรมกับต่อมสมองคนดูที่ต่อมไหน เราก็เฝ้าดู เฝ้ารอ ดูว่าเมื่อไหร่พระเอกและนางเอกจะได้สมสู่กันตอนจบเสียที
หรือเรื่องที่ลูกติดยางอมแงมจนตาย เพราะแม่มัวแต่อยู่กับผัวใหม่ จนลืมสนใจลูก
ละครตามช่องส่วนใหญ่ก็น่าละอายใจแทนผู้หญิง วันๆหล่อนไม่ทำอะไร เฝ้าแต่คอยห่วงว่า ผู้ชายที่ตัวเองชอบ จะไปชอบนางเอกหรือเปล่า แว๊ดๆๆๆๆ ไปวันๆ งานการไม่ยอมทำ พอไม่ได้ดังใจก็หาเรื่องตบตีนางเอกทำอย่างกับว่า ทั้งโลกนี้มี........แค่อันเดียวที่ฉันจะใช้ และฉันต้องได้ใช้มันคนเดียว
ครูบอกว่า เรื่องพวกนี้ มันมาจากพื้นฐานหรือแนวคิดของผู้เขียน แนวคิดที่มีเรื่องเลวๆ(ขอใช้คำเบาลงหน่อย) ที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ด้วยตนเอง หรือเป็น หรือกระทำมาแล้ว และมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราว ห่อหุ้มด้วยคำสละสลวย หรือแต่งแต้มสีสันเข้าไป เพื่ออะไร ก็เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกละอายใจ หรือเสียใจ หรืออยากขอโทษกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่อยู่ในเรื่องราวนั้นๆ
เพราะครูบอกว่า เรื่องที่ดี คือ “เรื่องที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้”
เอาล่ะสิครับ ผมเชื่อว่า ผู้อ่านหลายท่าน ต้องมีเรื่องที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้ อย่างน้อยต้องมีกันคนละเรื่องสองเรื่อง บางคนมีเรื่องมากมายที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้ ผมว่าคนนั้นมี “เรื่องราว” ที่จะเขียน หรือมีแววว่าจะเป็นผู้เขียนบทละครที่ดีได้ในอนาคต
แล้ว “เรื่องที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้” นั้น จะนำมาสู่ การเขียนบทละครง่ายๆอย่างไร
ผมเชื่อว่า หลายท่านคงนึกออกเลาๆแล้วใช่ไหมครับ
เรามามองด้านการละคร
เมื่อมีเรื่องราวแล้ว มีนักแสดง(คือตัวเรา) แล้ว ก็ต้องมีคนดู
“เรื่องที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้” จะใช้ใครแสดง ไม่ต้องไปหาอื่นไกล ก็เอาตัวเรานั่นแหละ

ส่วนคนดูนั้น จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก "คนที่เราอยากเล่าให้ฟังที่สุด เพียงคนเดียว"
เพราะอะไรหรือครับ เพราะพอเรามี “เรื่องที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้”แล้ว
ครูถามว่า จริงๆแล้ว เราอยากเล่าให้ใครฟังไหม
ผมตอบว่า ถ้าผมมี แล้วไม่ได้เล่าให้ใครฟัง มันจะไม่สบายใจ หรือมันอาจกลายเป็นตราบาปที่ไม่ได้รับการสารภาพ มันจะถูกแอบซ่อนอยู่ภายใน เหมือนหนอนที่คอยกัดกร่อนจิตใจทุกครั้งที่เรานึกถึง มันจะอึดอัดใจ
อยากเล่า อยากระบาย แต่ไม่รู้จะพูดหรือเล่าให้ใครฟัง
ครูถามว่าทำไม
ผมตอบว่า กลัวคนที่เราเล่าให้ฟัง แล้วมันจะเอาเรื่องไปบอกคนอื่นต่อ ถ้าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เราคงติดคุก หรือโดนสังคมลงโทษ
ครูถามว่า นอกจากความรู้สึกนั้นแล้ว มีความรู้สึกอย่าอื่นอีกไหม
ผมบอกว่า มีความรู้สึกสำนึกผิด ละอายที่ได้ทำไป อยากย้อนเวลาไปใหม่ อยากขอโทษกับคนที่เรากระทำผิดนั้น หรือไม่อยากทำเหตุการณ์นั้นๆซ้ำอีก
ครูถามว่า ที่เรามี “เรื่องที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้” แล้วไม่ได้เล่า เพราะเรา “กลัว” ผลที่จะตามมาใช่ไหม
ผมบอกว่า ใช่ ตอนที่ทำไม่ได้คิด แต่พอทำไปแล้ว มันสำนึกได้
ครูถามว่า แล้วเรา “กลัว” ใครจะรู้เรื่องที่สุด
ผมตอบว่า ก็กลัวคนที่เราไม่อยากให้เค้าเสียใจเมื่อรู้เรื่องนี้ เช่น คนที่เราทำไม่ดีด้วย หรือพ่อแม่ของเราจะรับไม่ได้
ครูบอกว่า พอแค่นี้ก่อน มันหมดหน้ากระดาษแล้ว ให้คนอ่านเค้าอึดอัดใจไปก่อน ให้เค้าอยากรู้มากๆว่า สิ่งที่ครูจะพูดนั้น มันสำคัญกับการเขียนบทละครอย่างง่ายๆอย่างไร

ใครอยากรู้ โปรดติดตามตอนต่อไป
ที่นี่
เร็วๆนี้
แก้ว ชาญวุฒิ
ผู้เล่า
ไม่ใช่ผู้เขียน หรือผู้แต่งเรื่อง


1 ความคิดเห็น:

tom กล่าวว่า...

พี่แก้ว /
ผมชื่อต้อม ลูกป้าตุ๊ อยากจะติดต่อพี่ แต่ไม่มีเบอร์ บังเอิญลองค้นหา เจอ blogพี่พอดี คุณพ่อพี่(น้าวัฒน์) เล่าให้ฟังว่าพี่กำลังจะทำหนังเกี่ยวกับวัยรุ่น ผมเลยอยากจะพา หลานไปคัดตัวแสดง ไม่ทราบว่า พี่แก้วได้ครบหรือยัง รบกวนพี่ช่วยตอบผมหน่อยครับ และต้องขอโทษพี่ด้วย ที่เข้ามาใน blogไม่ถูกวัตถุประสงค์
ปราโมทย์ ประทุมชาติ (ต้อม) 081-3169233