A PART OF MY LIFE

A PART OF MY LIFE
เป็นเวปในฝัน ที่ทำเพื่อ "บูชาครูการละคร" ทั้งหลายที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาศิลปการละครให้แก่ข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าได้นำความรู้เหล่านั้นมาหากินเลี้ยงชีพมาตราบจนทุกวันนี้ เช่น ครูใหญ่ อ.สดใส พันธุมโกมล,ครูช่าง อ.ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง,ครูแอ๋ว อ.อรชุมา ยุทธวงศ์,ครูอุ๋ย อ.พรรัตน์ ดำรุง,พี่อี๊ด สุประวัติ ปัทมสูต,อารอง เค้ามูลคดี,อาโต รัชฟิล์ม และอีกหลายๆท่าน โดยนำคำสอนของบรรดาครูทั้งหลาย และเหล่าพี่น้องภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่รัก "ละครเวที" ครับ

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

ความสำคัญของ WORK SHOP

WORK SHOP คืออะไร มีความสำคัญแค่ไหนกับการเป็นนักแสดง
WORK SHOP เปรียบเสมือนวิธีการฝึกฝนวิธีการแสดงของนักแสดง เพื่อได้มาซึ่งการแสดงที่เป็นธรรมชาติ สมจริง เป็นการฝึกทั้งด้านร่างกาย และ จิตใจให้พร้อมในทุกบทบาท ฝึกการเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกายอย่างมีสมาธิ เช่น ฝึกให้รู้จักเครื่องมือในการแสดงของนักแสดงทุกชิ้น เช่น หัวแม่เท้าข้างซ้าย นิ้วก้อยมือข้างขวา ท่อนแขนด้านขวาท่อนบน เป็นต้น หรือฝึกอารมณ์หรือความรู้สึกที่เคยเป็น (MEMORY RECALL) ต่างๆที่ต้องใช้ในการแสดง เพื่อจะได้เรียกมาใช้ได้อย่างอัตโนมัติ
ที่จริงแล้ว นักแสดงละคร ก็เปรียบเสมือนนักกีฬา คือต้องมีการหมั่นฝึกซ้อม ซ้อมแล้วซ้อมเล่า
ในสมัยที่ข้าพเจ้าเรียนละครใหม่ๆ ก็เคยเกิดข้อกังขาในใจว่าทำไมครูต้องให้ฝึกทำนั่นทำนี่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วยังบอกว่าตรงนั้นดี ตรงนี้ไม่ดี ให้ทำใหม่
เช่น การฝึกเรื่อง ความไว้วางใจ เราจะจับกลุ่มกัน ๓ คน ให้คนหนึ่งยืนตรงกลาง หันหน้าหาเพื่อนคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องยืนตัวตรง ให้เพื่อนที่อยู่ทั้งสองข้าง ผลักเราให้เอนไปเอนมา โดยที่เราต้องรู้สึกสบายใจ ไม่เกร็ง ไม่มีความกลัวว่าจะเจ็บ เพราะเราต้องเชื่อใจว่า เพื่อนของเราทั้งสองคนจะสามารถดูแลเราไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้
ผมก็ฝึกมาตั้งแต่แรกๆ โดยที่ตอนนั้น ครูไม่ได้บอกว่า เราทำแบบนี้ทำไม เราก็เล่นสิ ผมเป็นคนผลัก ก็เลยแกล้งผลักเพื่อน แรงบ้าง เบาบ้าง แกล้งไม่รับเพื่อน ให้เพื่อนล้มบ้าง พวกเราก็สนุกสนานเฮฮากัน ทำได้ไม่นาน ครูก็ให้เปลี่ยน ให้คนที่ผลัก ๑ คน มายืนแทนเพื่อนที่ถูกผลัก
เอาล่ะสิ ตอนนี้นึกขึ้นได้ว่า เมื่อกี๊เราเพิ่งแกล้งเพื่อนไป ตอนนี้ตาเราบ้างแล้ว ที่สำคัญ เพื่อนเรามันจะเอาคืนไหม ความไม่มั่นใจเริ่มครอบงำตัวผม กลัวไปสารพัด ไม่รู้ว่าเพื่อนจะแกล้งเมื่อไหร่ ในการที่เรายืนตรงกลาง ก็เลยยืนแบบไม่มั่นใจ กลัวเจ็บ ตอนนั้นก็ไม่ได้ขอโทษเพื่อนด้วย แต่ในที่สุด การฝึกก็ผ่านไปด้วยดี เพราะเพื่อนผมพยายามไม่ให้ผมเจ็บ เค้าพยายามบอกว่า ไม่ต้องกลัว เราไม่แกล้งเธอหรอก ไว้ใจเราสิ ผมก็ใจชื้นมาหน่อยนึง ตอนนั้นรู้สึกละอายใจตัวเองมากที่เราแกล้งเพื่อน แต่เพื่อนไม่ได้แกล้งเรา อีกประการหนึ่ง ผมก็มาคิดว่า ในกลุ่ม มีแต่เพื่อนผู้หญิง ตอนที่เราเป็นคนผลัก มันต้องมีการถูกเนื้อต้องตัวกัน แล้วเพื่อนก็ยืนหันหน้ามาหาเรา เอาล่ะสิ เราจะผลักส่วนไหนของเพื่อนดีวะ ถ้าผมเป็นคนฉวยโอกาส แล้วเพื่อนจะว่าไหม สุดท้ายผมก็เลือกที่ผลักได้ คือที่หัวไหล่ ซึ่งเพื่อนก็ไม่ได้ว่าอะไร แสดงว่า เพื่อนผม ได้ให้ความไว้วางใจผมตั้งแต่แรก ในการที่ผมจะถูกเนื้อต้องตัวเพราะมัเป็นการแสดง แบบฝึกหัดนี้ ถ้าเพื่อนผมถือตัว หรือหวงตัว ผมก็คงฝึกไม่ได้
เวลาผ่านไป การฝึกซ้อมก็มีทุกครั้งที่เราเรียนการแสดง จนวันหนึ่ง ครูบอกว่า ที่ต้องมีการ WORK SHOP เรื่องการไว้วางใจกันนั้น เพราะเวลาที่เราเล่นละคร อาจมีบางบท บางตอนที่ต้องใช้ความไว้วางกันอย่างมาก เช่น บทบู๊ ใช้มีด หรือดาบตีรันฟันแทงกัน หากเราไม่ไว้ใจเพื่อน ไม่เชื่อว่าเพื่อนจะทำได้ กลัวว่าเพื่อนจะทำเราบาดเจ็บ เราก็จะไม่สามารถเข้าถึงบทบาทของการแสดงในฉากนั้นๆได้ เพราะเราจะมัวแต่ห่วงตัวเอง กลัวเจ็บ กลัวตาย จนถอนสมาธิออกจากตัวละคร มาเป็นตัวเราบนเวที
เด็กสมัยนี้ จะรู้สึกเบื่อว่า และคิดว่าทำไมกูต้องมานั่งซ้อมในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการแสดงวะ บางคนมาถามว่า “อ.จ.ขา หนูลงวิชาการแสดงนะคะ ไม่ได้ลงวิชาพละศึกษา ทำไมอ.จ.ต้องให้หนูวิ่ง ให้หนูวอร์มร่างกาย ให้หนูทำท่ากายบริหารทุกส่วนตั้งแต่หัวยันเท้า ทำไมอ.จ.ไม่สอนวิธีแสดงที่ถูกต้องให้พวกหนูล่ะคะ เช่น จะแสดงว่ารักยังไง โกรธยังไงเป็นต้น”
ผมก็ได้แต่หัวเราหึๆในลำคอ แต่ผมไม่ตอบ เพราะคิดว่า การที่เราบอกเด็กๆว่า ทำไมต้องทำอย่างนั้น เพื่ออย่างนี้ แล้ว เด็กจะเกิดการคาดหวัง และมุ่งสมาธิไปที่บั้นปลาย หรือผลที่เด็กจะได้โดยตรง เปรียบเสมือนกับเด็กอยากเขียนคำได้ แต่ไม่ยอมเรียนการเขียนพยัญชนะ เป็นต้น จะทำให้พื้นฐานการแสดง หละหลวม และไม่เข้าใจถึงหัวใจของการแสดงได้ ปล่อยให้กาลเวลาเป็นผู้ตัดสินใจว่า เมื่อไหร่ที่เด็กพวกนั้น จะได้รับรู้ถึงหัวใจของการฝึกการแสดง ถ้าเด็กพวกนั้น ยังฝันที่จะเป็น “นักแสดงที่ดี” ให้ได้ในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น: