A PART OF MY LIFE

A PART OF MY LIFE
เป็นเวปในฝัน ที่ทำเพื่อ "บูชาครูการละคร" ทั้งหลายที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาศิลปการละครให้แก่ข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าได้นำความรู้เหล่านั้นมาหากินเลี้ยงชีพมาตราบจนทุกวันนี้ เช่น ครูใหญ่ อ.สดใส พันธุมโกมล,ครูช่าง อ.ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง,ครูแอ๋ว อ.อรชุมา ยุทธวงศ์,ครูอุ๋ย อ.พรรัตน์ ดำรุง,พี่อี๊ด สุประวัติ ปัทมสูต,อารอง เค้ามูลคดี,อาโต รัชฟิล์ม และอีกหลายๆท่าน โดยนำคำสอนของบรรดาครูทั้งหลาย และเหล่าพี่น้องภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่รัก "ละครเวที" ครับ

วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2551

ความจริง (TRUTH)

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ละครเป็นงานสร้างสรรค์ที่มีศิลปะ ก็คือ ความจริง (TRUTH) และความจริงใจ (SINCERITY) ในการนำเสนอ (PRESENTATION) หรือแสดงออก (EXPRESSION) ซึ่งความจริงอันนั้น

ความจริง (TRUTH)ในละครที่ผู้กำกับการแสดงต้องหาให้พบและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนลงมือกำกับการแสดง ก็คือ สัจธรรมของผู้ประพันธ์ หรือ
ความจริงที่ละครเรื่องนั้นต้องการสื่อสารกับผู้ชม

ปัญหาที่เป็นอุปสรรคสูงสุดต่อการพัฒนาต่อการพัฒนาการของการแสดงที่เป็นศิลปะและเป็นมูลเหตุสำคัญของปัญหาอื่นๆที่ติดตามมาก็คือ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความจริง (TRUTH) ในการแสดง ได้แก่
- ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “การแสดง” ว่าเป็นการเสแสร้งปั้นแต่งกิริยาขึ้นโดยปราศจาก “ความจริง” ใดๆ

- ความเข้าใจผิดที่ทำให้เกิดความเชื่อว่า เมื่อเป็น “ละคร” แล้ว ไม่จะเป็นต้อง “จริง” หรือ “เป็นตัวละคร” แล้วต้อง “ไม่จริง” ซึ่งนำไปสู่การยอมรับการแสดงที่มีลักษณะ “เสแสร้งแกล้งทำ” ในวงกว้าง ทำให้ยากต่อการแก้ไข

- ความสับสนระหว่างความหมายของคำว่า ความจริง (TRUTH) กับ ความเป็นจริง(REALITY) ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดที่ว่า ละครที่มี ความจริง (TRUTH) จะต้องเป็นละครที่เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ความเป็นจริง(REALITY) ของชีวิตในแนว สัจจนิยม (REALISM) และธรรมชาตินิยม (NATURALISM) เท่านั้น ส่วนละครประเภทอื่นๆ หรือแนวอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งละครสมัยใหม่ที่เสนอในแนวที่เรียกโดยรวมว่า “แนวต่อต้านสัจจนิยมและธรรมชาติ (ANTI-REALISM AND NATURALISM) นั้น ไม่จำเป็นต้องมี หรือไม่ควรมี ความจริง (TRUTH)ซึ่งความเข้าใจผิดดังกล่าวนำไปสู่การเสนอละคร “จงใจ”แสดงแนวต่างๆ โดยมุ่งเน้นที่รูปแบบ (FORM) มากกว่าเนื้อหา (CONTENT) เป็นผลให้การแสดงขาดความจริงใจ (SINCERITY) และขาดศิลปะในแง่ของการละคร

- การเข้าใจผิดว่า “การแสดงเป็นธรรมชาติอย่างจอมปลอม” (FAKED NATURALISM) คือการให้ ความจริง (TRUTH) แก่บทบาทการแสดง ซึ่งนำไปสู่การแสดงที่ “จงใจ”เสนอความเป็นธรรมชาติโดยปราศจาก “ความจริงภายใน” (INNER REALISM) ทำให้ขาดศิลปะของการแสดงอย่าสิ้นเชิง

- ความเข้าใจผิดที่ว่า“การลอกเลียนธรรมชาติอย่างละเอียดลออทุกกระเบียดนิ้ว”(PHOTOGRAPHIC COPYING) กับ ความจริง(TRUTH) ในละครเป็นสิ่งเดียวกัน ทำให้ทั้งผู้กำกับการแสดง และนักแสดงมุ่งเน้นรายละเอียดปลีกย่อยจนกระทั่งบดบัง ความจริง (TRUTH) ที่ละครเรื่องนั้นต้องการเสนอ

ไม่มีความคิดเห็น: